เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/พ./2808
วันที่:3 เมษายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 3 อัฏฐ และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             1. บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกยางรถยนต์ไปต่างประเทศ เดือนสิงหาคม 2547 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แสดงยอดขายจากการส่งออกจำนวน 1,532,000.00 บาท ยอดซื้อ 1,370,980.00 บาท ขอคืนภาษีจำนวน 95,968.60 บาท จากการตรวจสอบเอกสารขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏว่า บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อยางรถยนต์ 2 ขนาด ได้แก่ ยาง 16PR จำนวน 80 เส้นและยาง 18PR จำนวน 180 เส้น ซึ่งบริษัทฯ ได้สั่งซื้อยางรถยนต์ทั้ง 2 ขนาดจากบริษัท ส. โดยให้จัดส่งไปยังท่าเรือกรุงเทพเพื่อดำเนินการส่งออกแล้ว แต่ใบขนสินค้าขาออกระบุว่า เป็นการส่งออกยางรถยนต์ชนิด 16PR จำนวน 260 เส้นซึ่งไม่ตรงตามชนิดของยางรถยนต์ที่บริษัทฯ ได้สั่งซื้อเพื่อส่งออก
แนววินิจฉัย:            1. กรณีการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรอันจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 นั้น ต้องปรากฏว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ได้ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2543 มาแสดง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มีหลักฐานการสั่งซื้อและใบกำกับภาษีซื้อสำหรับยางรถยนต์ชนิด 16PR จำนวน 260 เส้น แต่หลักฐานตามใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากรสำหรับส่งออกยางรถยนต์ดังกล่าวระบุว่า เป็นการส่งออก ยางรถยนต์ชนิด 16PR จำนวน 80 เส้น ส่วนอีก 180 เส้นเป็นยางรถยนต์ชนิด 18PR กรณีย่อมถือว่า เป็นการขัดกันของเอกสาร เมื่อเป็นการส่งสินค้าออกไปขายนอกราชอาณาจักรจึงต้องถือว่า ใบขนสินค้าขาออกซึ่งเป็นเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรเป็นผู้ทำเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องโดยถืออนุโลมตามมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากรระบุว่า ยางรถยนต์ชนิด 16PR ที่บริษัทฯ ส่งออกไปประเทศเวียดนามมีจำนวนเพียง 80 เส้น ส่วนอีก 180 เส้นเป็นยางรถยนต์ชนิด 18PR กรณีจึงต้องถือตามใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากรซึ่งเป็นเอกสารราชการ เมื่อบริษัทฯ ไม่มีหลักฐานการส่งออกยางรถยนต์ชนิด 16PR จำนวน 180 เส้นมาแสดง อีกทั้งปรากฏตามรายงานสินค้าและวัตถุดิบว่า มีการจ่ายยางรถยนต์ชนิดดังกล่าวออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบโดยไม่มีการลงรายงานภาษีขายตามมูลค่ายางรถยนต์ดังกล่าว จึงต้องถือว่า ยางรถยนต์ชนิด 16PR จำนวน 180 เส้นนั้นขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 77/2 มาตรา 79/3(3) และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
:            2. กรณีการบันทึกรายงานภาษีขายสำหรับการส่งออกสินค้าซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 นั้น หากในเดือนภาษีสิงหาคมบริษัทฯ มีหลักฐานการส่งออกสินค้าที่ระบุมูลค่าเป็นเงิน 21,960.00 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทฯ จะต้องนำเงินตราต่างประเทศจำนวนดังกล่าวมาเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในรายงานภาษีขาย ดังต่อไปนี้
:                 (ก) ถ้าได้รับเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าในขณะที่ออกใบกำกับภาษี และได้มีการขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระนั้นเป็นเงินตราไทยในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร
:                 (ข) ถ้ายังไม่ได้รับเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าในขณะที่ออกใบกำกับภาษีให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร
:            กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตาม (ก) หรือ (ข) ในเดือนภาษีที่ลงรายงานแล้ว ให้ถือมูลค่าของสินค้าซึ่งได้คำนวณเป็นเงินตราไทยเพื่อการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของเดือนภาษีนั้น ถ้าได้รับชำระราคาค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศในเดือนภาษีอื่นหรือได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนภาษีอื่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในเดือนภาษีที่ได้รับเงินตราต่างประเทศหรือในเดือนภาษีที่มีการขายเงินตราต่างประเทศ
:            ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ซึ่งกรมสรรพากรได้มีแนวปฏิบัติตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.132/2548 เรื่อง การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5) มาตรา 65 ทวิ (8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2548
เลขตู้:69/34053

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020