เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/3140
วันที่:17 เมษายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าสิทธิไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลไทย ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์เรียกว่า "The AP Electronic News " ในประเทศไทยกับ บริษัท A ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เจ้าของลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ ในการจำหน่ายซอฟต์แวร์ดังกล่าวในประเทศไทย บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์จากลูกค้าเป็นรายปี โดยบริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายตามสัดส่วนร้อยละของค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้า ซึ่งสัดส่วนในกรณีนี้จะเพิ่มขึ้น หากยอดขายที่บริษัทฯ สามารถขายให้กับลูกค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในทางกลับกัน บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าสิทธิในการขายซอฟต์แวร์ให้กับ A เท่ากับค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้าส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าตอบแทนการเป็นตัวแทนจำหน่ายแล้ว
:            บริษัทฯ จึงหารือว่า จะต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากเงินที่จ่ายออกไปใช่หรือไม่ และต้องใช้ฐานภาษีให้สอดคล้องกับกรณีหักภาษีซึ่งต้องคำนวณจากค่าสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั้งจำนวนก่อนหักเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนการเป็นตัวแทน ถูกต้องหรือไม่ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าสิทธิในการขายซอฟต์แวร์ดังกล่าวให้กับ A จะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานใด
แนววินิจฉัย:            ตามข้อเท็จจริงข้างต้น A จำหน่ายซอฟต์แวร์ผ่านบริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของตนในประเทศไทย โดยบริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์จากลูกค้าเป็นรายปี เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าสิทธิในการขายซอฟต์แวร์ให้กับ A จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คำนวณจากฐานภาษีอันได้แก่ ค่าสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั้งจำนวนก่อนหักเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนการเป็นตัวแทน ในอัตราภาษีที่กำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34083

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020