เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3186
วันที่: 2 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีประกอบกิจการขายบ้านพร้อมที่ดินและการให้กู้ยืมเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            นาย A ได้รับเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคคลธรรมดารายหนึ่ง โดยมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
            1. นาง ก. เป็นเจ้าของที่ดิน และได้ประกอบธุรกิจในการจัดสรรที่ดินแบ่งขายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินแต่อย่างใด นาง ก.ได้เริ่มขายที่ดินจำนวน 5 แปลงในปี 2547 และได้เริ่มสร้างบ้านบนที่ดินแบ่งขายนั้นแล้ว
            2. การขายที่ดินดังกล่าว ได้จัดทำสัญญาเป็นสัญญาฉบับเดียว คือ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเนื่องจาก นาง ก. ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขายที่ดินเปล่า แต่ประสงค์จะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (บ้าน) บนที่ดินนั้น ยกเว้นลูกค้าซื้อที่ดิน จำนวน 2 แปลงติดกันเพื่อสร้างบ้าน 1 หลัง และมีภาระผูกพันที่จะต้องสร้างบ้านบนที่ดินแบ่งขายนั้น
            3. ที่ดินที่นาง ก. ซื้อมาจากบุคคลอื่น และแบ่งที่ดินแปลงใหญ่ ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ได้ไม่เกิน 9 แปลง เนื่องจากนาง ก. ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน จึงยังไม่ได้แบ่งที่ดินแปลงเล็ก ๆ จำนวนทั้งหมด 30 แปลง จากแปลงใหญ่ จำนวน 9 แปลงที่ได้แบ่งและโอนเป็นชื่อของนาง ก. แล้วต่อมานาง ก. พบว่า ที่ดินทั้ง 9 แปลงดังกล่าวนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในข่ายพื้นที่ขาว-เขียว คือ ต้องห้ามไม่ให้แบ่งแยกเพื่อขายเป็นแปลงย่อยได้อีกจนกว่าจะครบ 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2550 แต่สำนักงานที่ดินฯ แจ้งว่า แม้ว่าจะไม่สามารถแบ่งแยกได้อีกแต่ผู้ซื้อสามารถขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้โดยจดทะเบียนแบบมีกรรมสิทธิ์ร่วมหลายคน ในที่ดินแปลงเดียว และสามารถจดจำนองเฉพาะส่วนได้ ในกรณีผู้ซื้อรายหนึ่งรายใดเข้าทำสัญญากู้เงินและผ่อนชำระกับนาง ก. สำนักงานที่ดินฯ จะอนุญาตให้มีการจดจำนองเฉพาะส่วนได้ เช่นเดียวกันกับการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนนั่นเอง
            4. นาง ก. ได้ขายที่ดิน จำนวน 5 แปลงให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในปี 2547 โดยปลูกบ้านบนที่ดินที่ขายให้ลูกค้าและได้โอนกรรมสิทธิ์แบบกรรมสิทธิ์ร่วม ให้แก่ลูกค้า จำนวน 2 ราย ซึ่งลูกค้าได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้ว และมีลูกค้า จำนวน 3 ราย ประสงค์ที่จะผ่อนชำระกับนาง ก. โดยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนาง ก. และ เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน นาง ก.ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ พร้อมกับจดทะเบียนจดจำนองเฉพาะส่วนเรียบร้อยแล้วในวันที่ 1 ธันวาคม 2547 เช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ นาง ก. ได้เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้ว
            จึงขอทราบว่า
            1. นาง ก. ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
            2. ถ้าต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ นาง ก. ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งสองประเภท คือ ประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ถูกต้องหรือไม
            3. เนื่องจาก นาง ก. ไม่ได้แยกสัญญารับเหมาก่อสร้างออกจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เพราะนาง ก. ไม่ได้รับเหมาก่อสร้างบ้านแต่เป็นการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ขายจึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกต้องหรือไม
            4. นาง ก. ไม่ได้นำรายได้จากการขายที่ดินกล่าว ในปี 2547 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในแบบ ภ.ง.ด.90 ของปี 2547 เนื่องด้วยเข้าใจว่า ได้เสียภาษีแล้ว ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำมารวมคำนวณอีกในแบบ ภ.ง.ด.90 นาง ก. ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณในแบบ ภ.ง.ด.90 อีกหรือไม่ และต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ของปี 2547 เพิ่มเติมหรือไม่
            5. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 ถึง เดือนตุลาคม 2548 นาง ก. ได้รับชำระค่างวดจากการผ่อนชำระของลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ดอกเบี้ยรับซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 3.0 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปีแล้ว และยังไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด หาก นาง ก. ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2548 แล้ว นาง ก. ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะย้อนหลังหรือไม
            6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจากการให้กู้ยืมเงินนั้น นาง ก. มีสิทธินำดอกเบี้ยรับของยอดเงินต้นที่ได้รับชำระตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 มาคำนวณภาษี โดยแยกเป็นเดือน ๆ ถูกต้องหรือไม
            7. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะตาม 5. นั้น มีความเห็นว่า ให้นำเฉพาะดอกเบี้ยรับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยไม่ต้องนำยอดเงินของมูลค่าการจดจำนองตามสัญญากู้ยืมเงินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ถูกต้องหรือไม
            8. นาง ก. มีความประสงค์ที่จะเสียภาษีให้ถูกต้อง รวมถึงเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม นาง ก. มีสิทธิขอลดหรืองดเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ถูกต้องหรือไม่
            9. กรณี นาง ก. ให้ลูกค้าทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาดังกล่าวต้องปิดอากรแสตมป์ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:            กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแยกพิจารณาได้ดังนี้
            1. กรณีตาม 1. 2. และ 3. นาง ก. ประกอบกิจการขายบ้านพร้อมที่ดินตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 และประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินในทางธุรกิจดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/12 แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีตาม 4. การขายบ้านพร้อมที่ดินของนาง ก. เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร นาง ก. จะต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อนาง ก. ไม่ได้นำเงินได้พึงประเมินไปรวมคำนวณภาษีในปีภาษี 2547 นาง ก. จะต้องนำเงินได้พึงประเมินไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติมของปีภาษี 2547 ให้ถูกต้องต่อไป
            3. กรณีตาม 5. 6. 7. และ 8. นาง ก. ต้องนำรายรับจากดอกเบี้ยดังกล่าวที่ได้รับในแต่ละเดือนภาษีไปคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายเดือนภาษีไป เมื่อนาง ก. ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะไว้ นาง ก. มีสิทธิขอลดหรืองดเบี้ยปรับได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และการประกอบกิจการของนาง ก. ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่นาง ก.ไม่ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะจึงต้องรับผิดอาญาตามมาตรา 90/2(2) และมาตรา 91/21 (7) แห่งประมวลรัษฎากร 
            4. กรณีตาม 9. สัญญากู้ยืมเงินเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 69/34095

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020