เลขที่หนังสือ | : กค 0706/3278 |
วันที่ | : 21 เมษายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีได้รับผลต่างจากการซื้อพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 39 มาตรา 40(4)(ก) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : สมาคม ก. ได้ซื้อพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านทางธนาคาร ข. ราคาพันธบัตร 3,000,000 บาท แต่สมาคมฯ ซื้อได้ในราคา 2,946,764.49 บาท ทำให้เกิดผลต่างจำนวน 53,235.51 บาท โดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับผลต่างดังกล่าวไว้ สมาคมฯ จึงขอทราบว่า ผลต่างจากการซื้อพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจำนวน 53,235.51 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และสมาคมฯ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและจำหน่ายครั้งแรกในราคาที่ต่ำกว่าราคาโอน โดยให้ธนาคารฯ เป็นผู้จำหน่าย จึงถือว่า ธนาคารฯ กระทำการจำหน่ายแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าวแต่อย่างใด 2. กรณีธนาคารฯ จำหน่ายพันธบัตรครั้งแรกให้กับสมาคมฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายพันธบัตร ตามข้อเท็จจริงข้างต้นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายครั้งแรกซึ่งต่ำกว่าราคาไถ่ถอน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร สมาคมฯ จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยนำผลต่างในกรณีนี้ไปถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อพันธบัตรครบกำหนดเวลาไถ่ถอน ทั้งนี้ ตามมาตรา 39 ประกอบกับมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34102 |