เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3461
วันที่: 28 เมษายน 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรรมการบริษัทกู้เงินธนาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            บริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคาร โดยใช้ชื่อกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้กู้ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
            นาย ก. และนาย ธ. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคารโดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของนาย ก. จดทะเบียนจำนองการกู้ยืมเงิน และได้นำเงินที่กู้ยืมเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทฯ เพื่อปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนาย ก. โดยใบอนุญาตก่อสร้างเป็นชื่อของบริษัทฯ การที่ใช้ชื่อกรรมการเป็นผู้กู้ยืมเงินดังกล่าวเนื่องจากบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นใหม่ฐานะทางการเงินยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของธนาคารจึงต้องใช้ชื่อของกรรมการบริษัทฯ กู้เงินไปก่อน้
            บริษัทฯ จึงขอทราบว่า (1) บริษัทฯ มีสิทธินำใบรับค่าดอกเบี้ยนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่ อย่างไร (หากมีเอกสารอ้างอิงถึงการนำเงินกู้มาใช้เป็นค่าก่อสร้างอาคาร เช่น รายละเอียดการอนุมัติเงินกู้จากทางธนาคารที่ระบุงบที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้างอาคารของบริษัทฯ รายงานการประชุมการกู้เงินของกรรมการบริษัทฯ หนังสือจากธนาคารที่ระบุถึงการที่นิติบุคคลกู้ร่วมกับบุคคลธรรมดาไม่ได้ เป็นต้น
            (2) ใบรับค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการจดจำนองจากกรมที่ดิน กรณีใบรับใช้ชื่อเดียวกับใบรับตาม (1) สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:            1. กรณีค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามข้อเท็จจริงกรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้กู้ยืมเงิน จากธนาคารเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ใช้เป็นสถานประกอบ กิจการของบริษัทฯ โดยการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินที่ บริษัทฯ ได้เช่ามาจากกรรมการฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวและ เงินที่กู้มาจากธนาคารก็ได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้รับรองว่า เป็นการกู้ยืมในนามของบริษัทฯ ตามบันทึกรายงานการประชุมของผู้ถือหุ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง ซึ่งบริษัทฯ ต้องร่วมรับผิด ในการกู้ยืมเงินนั้นด้วย ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ โดยตรง แต่เนื่องจากได้จ่ายไปในระหว่างการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคาร ใช้การได้ตามสภาพ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวม คำนวณเป็นมูลค่าอาคาร เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารนั้นใช้การได้ตามสภาพ บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องจ่ายได้
            2. กรณีค่าธรรมเนียม และค่าอากรในการจดทะเบียนจำนอง ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีกรรมการนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนอง ซึ่งเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อปลูกสร้างอาคารใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรในการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว หากปรากฏหลักฐานเป็นค่าใช้จ่ายของกรรมการบริษัทฯ ผู้จดทะเบียนจำนอง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34138

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020