เลขที่หนังสือ | : กค0706/3026 |
วันที่ | :11 เมษายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณียกเลิกการสละสิทธิดอกเบี้ยจากการขอคืนภาษี |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ค. (มหาชน) เป็นบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์ และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2540 บริษัทฯได้ประสบผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนเงิน 2,313.7 ล้านบาท ทำให้ในปี 2541-2545 บริษัทฯ สามารถใช้ผลขาดทุนสะสมยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น ๆ ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้บริษัทฯ ไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกหัก ณ ที่จ่าย ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารเพื่อขอคืนภาษีนั้น บริษัทฯ ได้จัดทำหนังสือลงวันที่ 15มีนาคม 2547 ขอสละสิทธิดอกเบี้ยในการขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี2541-2545 แต่ภายหลังจากที่กรมสรรพากรได้ตรวจเอกสารทั้งหมดและสรุปประเด็นต่าง ๆ ในการขอคืนภาษีสำหรับปี 2541-2545 แล้ว บริษัทฯ ถูกกรมสรรพากรประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับปี 2541-2547 เป็นจำนวนเงิน 179,945,268.65 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำคำร้องของดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ คงเหลือต้องชำระภาษีรวมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินรวม 137,020,200.50 บาท ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดทำหนังสือ แจ้งยกเลิกการสละสิทธิดอกเบี้ยรับในการยื่นขอคืนภาษีอากร(แบบ ค.10) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541-2545 ซึ่งกรมสรรพากรได้ออกเลขที่รับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) และเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับปี 2541-2545 กรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป เนื่องจากบริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสมยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้นๆ ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้บริษัทฯ ไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่สามารถนำภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกหัก ณ ที่จ่ายไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว การที่บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งสละสิทธิดอกเบี้ยรับที่เกิดจากการขอคืนเงินภาษี และต่อมาบริษัทฯ ได้ทำหนังสือขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแจ้งยกเลิกหนังสือแจ้งสละสิทธิดอกเบี้ยรับที่เกิดจากการขอคืนเงินภาษีฉบับก่อนหน้านี้จะทำให้บริษัทฯ มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยรับจากการขอคืนภาษี ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัทฯ ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541-2545 ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดและบริษัทฯ ได้ทำหนังสือสละสิทธิดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ถือเป็นการแสดงเจตนาโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลผูกพันบริษัทฯ ตามมาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาภายหลัง บริษัทฯ ประสงค์จะขอรับดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิที่จะกระทำได้ แต่ต้องดำเนินการภายในกำหนดเวลาที่มีสิทธิขอคืนภาษี จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ทำหนังสือแจ้งยกเลิกหนังสือแจ้งสละสิทธิดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เป็นการแจ้งยกเลิกหนังสือดังกล่าวเกินกำหนดระยะเวลาขอคืนภาษี บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541-2545 ที่ได้รับคืนแต่ประการใด |
เลขตู้ | :69/34073 |