เลขที่หนังสือ | : กค 0706/34153 |
วันที่ | : 3 พฤษภาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสินค้าสูญหาย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของบริษัทฯ สินค้าของบริษัทฯ ได้แก่ เพชร พลอย แหวน ต่างหู จี้ สร้อยคอ และอื่นๆ อีกหลายรายการมีมูลค่ารวม 2,901,355.69 บาทได้ถูกโจรกรรมโดยนาย ด. และบริษัทฯ ได้แจ้งความและดำเนินคดีทางกฎหมายกับนาย ด. ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้คดีหมายเลขแดง และเนื่องจากการดำเนินคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ค่าเสียหายมูลค่า 2,901,355.69 บาท บริษัทฯ มีสิทธินำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 และมีสิทธินำภาษีซื้อของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีสินค้าของบริษัทฯ สูญหายและบริษัทฯ มีหลักฐานแจ้งชัดว่า สินค้าดังกล่าวถูกโจรกรรม ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ หากผลเสียหายดังกล่าวไม่มีประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ บริษัทฯ มีสิทธิ นำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้น และหากภายหลังบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ให้นำจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระแล้วนั้น มาลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย 2. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ สูญหาย เนื่องจากถูกโจรกรรม สินค้าที่ถูกโจรกรรมเข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไปดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) และมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีซื้ออันเกิดจากสินค้าที่ถูกโจรกรรมไปนั้น เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ หากไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34153 |