เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4107
วันที่: 16 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินกำไรจากการขายหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            ธนาคารฯ ประกอบกิจการให้บริการรับฝากทรัพย์สินหรือคัสโตเดียน (Custodian) ของนิติบุคคลต่างประเทศที่เปิดบัญชีรับฝากทรัพย์สินและบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารฯ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
            1. กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ A ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เปิดบัญชีรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) และบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารฯ เมื่อนิติบุคคลต่างประเทศ A ได้รับคำสั่งโดยตรงจากนิติบุคคลต่างประเทศ B (ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย) ให้ดำเนินการซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นิติบุคคลต่างประเทศ A ก็จะส่งคำสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ไทย (หรือโบรกเกอร์ไทย) ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว และให้ส่งมอบหลักทรัพย์ให้ธนาคารฯ โดยธนาคารฯ จะชำระราคาให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ไทยตามคำสั่งของนิติบุคคลต่างประเทศ A เมื่อนิติบุคคลต่างประเทศ A สั่งให้ธนาคารฯ ส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่บริษัท ก. (สถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทยและเป็นบริษัทรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ของนิติบุคคลต่างประเทศ B) พร้อมรับชำระราคาหลักทรัพย์และค่าบริการจากบริษัท ก. นิติบุคคลต่างประเทศ A จะได้รับส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น 
            2. กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ A มิได้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และมิได้มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้เปิดบัญชีรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) และบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารฯ เมื่อนิติบุคคลต่างประเทศ A ได้สั่งซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ไทย (หรือโบรกเกอร์ไทย) และตกลงขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศ B (นิติบุคคลจดทะเบียนในต่างประเทศและไม่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย) นิติบุคคลต่างประเทศ A จะสั่งให้ธนาคารฯ รับมอบหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์ไทย พร้อมกับจ่ายเงินค่าหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ไทย และให้ธนาคารฯ ส่งมอบหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. (บริษัทรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ของนิติบุคคลต่างประเทศ B) โดยบริษัท ก. จะชำระราคาค่าหลักทรัพย์และค่าบริการให้แก่ธนาคารฯ นิติบุคคลต่างประเทศ A จะได้รับส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น ธนาคารฯ ขอทราบว่า เมื่อธนาคารฯ มีอำนาจตามข้อตกลงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือจ่ายภาษีในฐานะของผู้ฝากหลักทรัพย์ ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีดังกล่าวหรือไม่
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. นิติบุคคลต่างประเทศ A ได้รับเงินส่วนต่างสำหรับค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่นิติบุคคลต่างประเทศ B จ่ายให้ โดยจ่ายผ่านธนาคารฯ ในประเทศไทย การจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินระหว่างนิติบุคคลต่างประเทศ A และนิติบุคคลต่างประเทศ B ในต่างประเทศทั้งหมด และเป็นแหล่งเงินได้นอกประเทศ ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินจากแหล่งเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย 
            2. กรณีตาม 2. นิติบุคคลต่างประเทศ A ตกลงขายหุ้นให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศ B ผ่านธนาคารฯ ในประเทศไทย ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา ส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นเข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร หากธนาคารฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการรับฝากดูแลทรัพย์สิน (Custodian) เป็นผู้รับมอบหลักทรัพย์และชำระราคาค่าหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ไทย และส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่บริษัท ก. (ผู้รับฝากดูแลทรัพย์สิน (Custodian) ของนิติบุคคลต่างประเทศ B) มีข้อตกลงหรือสัญญากับนิติบุคคลต่างประเทศ A โดยระบุให้ธนาคารฯ มีอำนาจหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในฐานะของผู้ฝากหลักทรัพย์ สำหรับส่วนต่างจากการโอนหลักทรัพย์ดังกล่าว ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34194

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020