เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./3539 |
วันที่ | : 1 พฤษภาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8)(14) มาตรา 78(4)(ท) และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ซ. ประกอบกิจการนำเข้า ขายส่งและขายปลีกสินค้าประเภทสิ่งทอ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย กรณีลูกค้าซื้อสินค้าและชำระเงินพร้อมนำสินค้าออกจากบริษัทฯ บริษัทฯ จะนำยอดขายไปคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 แต่หากลูกค้าซื้อสินค้าและชำระเงินดังต่อไปนี้ บริษัทฯ ถือเป็นการส่งออกสินค้า ซึ่งจะนำยอดขายไปคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 1. ลูกค้าชาวต่างประเทศที่มาเลือกซื้อสินค้าสั่งจองสินค้าของบริษัทฯ และชำระเงินโดยบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะชำระเงินทั้งจำนวนและเงินจะเข้าบัญชีภายใน 3 วันนับจากวันที่ลูกค้าใช้บัตรเครดิต แต่บริษัทฯ จะไม่ใช้เงินจำนวนนี้จนกว่าลูกค้าจะได้รับสินค้า เนื่องจากลูกค้ามีสิทธิจะยกเลิกจำนวนเงินที่ใช้บัตรเครดิตได้ตลอดเวลา เนื่องจากสินค้าอาจไม่ตรงตามที่สั่ง หรือส่งสินค้าเกินกำหนดเวลา 2. บริษัทฯ ออกใบสั่งซื้อสินค้า (Export Order) คือ การทำสัญญาระหว่างลูกค้ากับบริษัทฯ ว่า มีการซื้อขายกันจริงมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการสินค้า ปริมาณสินค้าที่ซื้อ จำนวนเงิน โดยจัดทำขึ้น 2 ฉบับ ต้นฉบับให้แก่ลูกค้าชาวต่างประเทศ ระบุประเทศ เมืองท่าที่ลูกค้าต้องการให้บริษัทฯ ส่งสินค้าไปให 3. บริษัทฯ จะดำเนินการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรให้ลูกค้าทางเครื่องบินโดยสาร โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรอย่างถูกต้องในนามของบริษัทฯ โดยใช้บริการของ บริษัท ด จำกัด หรือบริษัท ฟ ในการส่งสินค้าออกดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อชาวต่างประเทศในประเทศไทย โดยลูกค้าได้จ่ายเงินมัดจำหรือชำระค่าสินค้าทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ ด้วยบัตรเครดิตไว้ล่วงหน้า และให้บริษัทฯ ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ และออก Invoice ในนามบริษัทฯ โดยมิได้ส่งมอบการครอบครองสินค้าที่ซื้อให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้าโดยส่งออกตามมาตรา 77/1(8)(ค) และมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 78(4)(ก) ดังนั้น หากบริษัทฯ มีหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทฯ ที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงว่า มีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34145 |