เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./4037 |
วันที่ | : 15 พฤษภาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 78/1(1) มาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บกรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ 1. บริษัท พ. ประกอบกิจการประเภทการให้บริการรักษาความปลอดภัยและบริการอื่น ๆ โดยบริษัทฯ จะทำสัญญาจ้างกับผู้ว่าจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนในเดือนถัดไป บริษัทฯ ให้บริการรักษาความปลอดภัยในเดือนกรกฎาคม 2548 แต่ยังมิได้รับชำระเงิน ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2548 บริษัทฯ ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับชำระราคาค่าบริการสำหรับเดือนกรกฎาคม 2548 บริษัทฯ เห็นว่า ค่าบริการสำหรับเดือนกรกฎาคม 2548 บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระราคาค่าบริการจากการรักษาความปลอดภัยสำหรับเดือนกรกฎาคม 2548 ในเดือนสิงหาคม 2548 ตามข้อเท็จจริง หากในวันที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1(1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และจะต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณในการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เดือนภาษีสิงหาคม 2548 อันเป็นเดือนที่ได้รับชำระราคาค่าบริการตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ต่อมาบริษัทฯ มีหนังสือ คัดค้านและขอให้ทบทวนโดยมีเหตุผลว่า บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าสำหรับรายรับที่เกิดจากการให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548เป็นต้นไป สำหรับรายรับที่เกิดขึ้นจากการให้บริการก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2548 นั้น บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับ และไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าได้ บริษัทฯ เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณารายรับของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มควรจะพิจารณาจากรายรับที่เกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ มีฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ไม่ใช่พิจารณาจากวันที่บริษัทฯ ได้รับชำระราคาค่าบริการ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการไปแล้วก่อนวันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังไม่ได้รับชำระราคาค่าบริการ ต่อมาบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับชำระราคาค่าบริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการไปแล้ว และได้รับชำระราคาค่าบริการแล้วก่อนวันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีดังกล่าว เนื่องจากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนยังไม่เกิดขึ้น |
เลขตู้ | 69/34185 |