เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4615
วันที่:26 พฤษภาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับการยกหนี้เงินกู้จากเจ้าหนี้
ข้อกฎหมาย:มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัท X (บริษัทฯ) จำกัด หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับการยกหนี้เงินกู้จากเจ้าหนี้ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
:            1. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการผลิต BARRELS และ SREWS ประเภท 4.11 การผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
:            2. บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคาร B สาขากรุงเทพฯ จำนวน 1,000,000,000 เยน และ 7,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ร้อยละ 95 และกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ร้อยละ 5 ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ได้มีการแปลงหนี้โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เป็นบริษัท S ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
            3. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 บริษัท S และผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้ขายหุ้นทั้งหมดพร้อมหนี้เงินกู้ จำนวน 1,000,000,000 เยน ให้กับ เอ. ในราคา 8,300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมิได้ระบุถึงหนี้เงินกู้ จำนวน 7,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งบริษัทฯ เข้าใจว่า เป็นการยกหนี้เงินกู้ในส่วนของ 7,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืม จำนวน 7,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกต่อไป บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
                 3.1 กรณีเจ้าหนี้ยกหนี้เงินกู้ให้กับบริษัทฯ บริษัทฯ ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือไม่ และถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ใช่หรือไม่
:                 3.2 กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยรายได้ตาม 3.1 ตามส่วนของรายได้ ใช่หรือไม่
:                 3.3 รายได้จากการยกหนี้เงินกู้ให้ในส่วนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ผลขาดทุนย้อนหลัง 5 ปี จะยังคงนำไปใช้หลังจากหมดสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริม ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย:            บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดเวลาเจ็ดปี รวมถึงรายได้จากการขายผลพลอยได้ ได้แก่ เศษหรือของเสียจากขบวนการผลิต หากบริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ สำหรับกรณีบริษัทฯ ได้รับการยกหนี้เงินกู้ให้จากเจ้าหนี้ ไม่ถือเป็นรายได้ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการได้รับการยกหนี้ให้จากเจ้าหนี้ดังกล่าวไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34237

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020