เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4062
วันที่:15 พฤษภาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและซื้อที่อยู่อาศัยแห่งใหม่
ข้อกฎหมาย:มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 นาย สุ. ได้ขายบ้านตึก 2 ชั้น พร้อมที่ดิน ให้แก่นางสาว ข. และนาย ส. ในราคา 2,000,000 บาท โดยได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วเป็นเงิน 55,113 บาท นายสุ. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2542
:            2. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 นายสุ. ได้ซื้อที่ดินในราคา 6,785,710 บาท จากบริษัท ท. จำกัด และได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท พี. ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่โครงการ ก. ริมคลองประปาประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ในราคา 3,050,000 บาท แบ่งจ่ายตามผลสำเร็จของงาน รวม 9 งวด ซึ่งสัญญาระบุว่า ผู้รับจ้างจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานทั้งหมดให้แก่ผู้ว่าจ้าง ภายในระยะเวลา 240 วัน เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2547 นายสุ. ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร เลขที่ 464/2547 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2547
:            3. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 นายสุ. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภค กับธนาคารจำนวนเงินกู้8,000,000 บาท โดยสัญญากู้ยืมระบุในข้อหลักประกันว่า จัดให้มีการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วในขณะนี้และที่จะมีขึ้นต่อไป
:            4. นายสุ. เข้าใจว่า การซื้อที่ดินพร้อมว่าจ้างก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในที่ดินแห่งใหม่โดยแยกสัญญากันได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 นายสุ. เจตนาต้องการขายบ้านหลังเก่าและซื้อบ้านหลังใหม่สำหรับอยู่อาศัยโดยไม่มีเจตนาอื่น เนื่องจากทางหมู่บ้านไม่มีผู้รับเหมาสร้างบ้านในเฟสที่ดินแปลงที่ซื้อ แต่เฟสอื่นมีผู้รับเหมาสร้างบ้านให้ นายสุ จึงต้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินก่อนและทำสัญญาสร้างบ้านภายหลัง
แนววินิจฉัย:             กรณีตามข้อเท็จจริง แม้ว่านายสุ. จะได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมก็ตาม แต่สัญญาซื้อที่ดินและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยแยกกันคนละฉบับ โดยผู้ขายที่ดินและผู้รับจ้างก่อสร้างมิได้เป็นบุคคลเดียวกัน ผู้รับเงินค่าที่ดินและผู้รับเงินค่าก่อสร้างก็มิใช่บุคคลเดียวกันเช่นกัน นอกจากนี้ ในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างได้แบ่งจ่ายค่าจ้างตามผลสำเร็จของงานเป็นระยะเวลา 9 งวด และส่งมอบงานภายในระยะเวลา 240 วันภายหลังจากทำสัญญา กรณีจึงเป็นการทำสัญญาซื้อที่ดินเปล่า และเป็นการทำสัญญาว่าจ้าง แยกต่างหากจากกัน จึงมิใช่สัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์พร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (62)(ข) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ดังนั้น นายสุ. จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
เลขตู้:69/34190

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020