เลขที่หนังสือ | : กค 0706/4051 |
วันที่ | : 15 พฤษภาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : คณะบุคคลซึ่งประกอบด้วย นาง ก. และ นางสาว ข. โดย นาง ก. เป็นมารดา อายุเกิน 60 ปี ไม่ได้ทำงาน ส่วนนางสาว ข. เป็นบุตรของนาง ก. คณะบุคคลดังกล่าวได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำ จึงขอทราบว่า 1. กรณีนางสาว ข. มีเงินได้พึงประเมินในส่วนของตนเองซึ่งจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 นางสาว ข. จะหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาจำนวน 30,000 บาท ได้หรือไม่ 2. กรณีคณะบุคคลฯ ได้รับดอกเบี้ยเกิน 30,000 บาท จะถือว่ามารดามีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท ซึ่งทำให้นางสาว ข. ไม่มีสิทธิในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาหรือไม่ 3. กรณีคณะบุคคลฯ ได้ปิดบัญชีเงินฝากประจำไปแล้ว ไม่มีเงินได้พึงประเมินใด ๆ อีก คณะบุคคลฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีอีกหรือไม่ และจะต้องแจ้งเลิกคณะบุคคลฯ ต่อกรมสรรพากรหรือไม่ 4. กรณียังมิได้แจ้งเลิกคณะบุคคลฯ จะไปเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกับบุคคลอื่นเป็นอีกคณะบุคคลหนึ่งได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. และ 2. คณะบุคคลฯ. มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นหน่วยภาษีที่แยกต่างหากจากบุคคลในคณะบุคคลนั้น เงินได้พึงประเมินประเภทดอกเบี้ยที่คณะบุคคลฯ ได้รับ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลฯ ดังนั้น เมื่อนางสาว ข. มีเงินได้พึงประเมินในส่วนของตนเองซึ่งจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 นางสาว ข. มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2548 2. กรณีตาม 3. เมื่อคณะบุคคลฯ ได้ปิดบัญชีเงินฝากประจำไปแล้ว และไม่มีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นใดอีก คณะบุคคลฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และไม่ต้องแจ้งเลิกคณะบุคคลฯ ต่อกรมสรรพากรแต่อย่างใด 3. กรณีตาม 4. การตกลงเข้ากันเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือตกลงเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 1012 และมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะเข้าไปเป็นบุคคลในคณะบุคคลอื่นที่มิใช่นิติบุคคลหรือเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญอื่นอีกได้ โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ ดังนั้น กรณีนางสาว ข. เป็นบุคคลในคณะบุคคลฯ แล้ว นางสาว ข. ยังคงมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกับบุคคลอื่นเป็นอีกคณะบุคคลหนึ่งได้ |
เลขตู้ | :69/34189 |