เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 73)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้าง จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และ มาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

 

                โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษี เงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะ เหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวล รัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกความใน (ข) ของข้อ 1 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                          “(ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ”

 

                ข้อ 2  ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษี เงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะหตุ ออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

                “ข้อ 3  การเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ เงินได้ตามข้อ 1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

                            (1) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสีย ภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ทั้งจำนวน

                            (2) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน นอกจากกรณีตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ประเภทเดียวหรือหลายประเภท ก็ตาม โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน หากเงินได้พึงประเมินนี้ รวมกันแล้วไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน

                                  ในกรณีเงินได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน

                            (3) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และยังได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานประเภทอื่น ๆ ตาม (ง) อีก โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่ายให้ แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน ให้นำเงินได้พึงประเมินนั้นมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินได้ตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และหรือ (ง) โดยหากเงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ ออกจากงานตาม (ง) มีจำนวนเกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานก็ให้นำเงินได้ ตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้เพียงจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน

                                  ในกรณีเงินได้ตาม (ง) มีจำนวนไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ ทำงาน ให้นำเงินได้พึงประเมินตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน

                            (4) เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานตาม (2) และ (3) หมายความถึง จำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ ทำงาน ซึ่งเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายนี้ จะต้องไม่เกินเงินเดือน ถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น”

 

                ข้อ 4  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ. 2540 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2541

 

บุญรอด โบว์เสรีวงศ์

รองอธิบดี รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022