เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2752
วันที่:31 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสิทธิประโยชน์ของผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
ข้อกฎหมาย:มาตรา 65 มาตรา 79 มาตรา 82 และประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3)ฯ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539
ข้อหารือ:             บริษัท อ. จำกัด(บริษัทฯ) ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย เยื่อแผ่นที่ใช้เกี่ยวกับการกรองน้ำและรับปรึกษา ออกแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนโครงการการผลิตเมมเบรนออสโมซิสผันกลับ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ผู้ให้ทุน) ตามสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมในโครงการ "แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน" สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 (สัญญาฯ) ซึ่งตามข้อ 1 ของสัญญาฯ ระบุว่า"...ผู้ให้ทุนจะสนับสนุนด้านการเงินอุดหนุนแบบให้เปล่าตามระเบียบคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติว่าด้วยการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม พ.ศ.2547..." และตามข้อ 9 ของสัญญาฯ ระบุว่า "ผู้รับทุนจะต้องนำผลงานที่ผู้ให้ทุนได้ตรวจรับแล้วไปพัฒนาโครงการตามข้อเสนอให้เต็มรูปแบบต่อไปตามวัตถุประสงค์ หรือใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างผลผลิตด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับทุนเอง ในกรณีที่ผู้ให้ทุนตรวจพบว่า
:            1.1 ผู้รับทุนมีเจตนาไม่ใช้ประโยชน์จากผลงานของโครงการนวัตกรรมตามวัตถุประสงค์ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ให้ทุนตรวจรับผลงานตามโครงการ ทั้งที่สามารถกระทำได้ หรือ
:            1.2 ผู้รับทุนได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นในเชิงอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชยกรรมภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสิทธิบัตร
:            ผู้รับทุนต้องโอนมอบกรรมสิทธิ์ และ/หรือ สิทธิบัตรในงานนั้นและสิทธิอื่นใดทางทรัพย์สินทางปัญญานั้นให้แก่ผู้ให้ทุนโดยปราศจากเงื่อนไขข้อสงวนใดๆ โดยผู้ให้ทุนจะพิจารณา จ่ายค่าตอบแทนสิทธิได้ตามสัดส่วนงบประมาณการลงทุนในโครงการ
:            บริษัท โมเดอร์นฯ จึงขอทราบว่า
:            1. เงินทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรม ที่บริษัทฯ ได้รับจากผู้ให้ทุน โดยผู้ให้ทุนจะสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า ตามระเบียบคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม พ.ศ.2547 ตามข้อ 1 สัญญาฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
:            2. บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สำหรับการรับจัดทำการวิจัยโครงการดังกล่าว อย่างไรบ้าง
:            3. บริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและด้านค่าใช้จ่าย สำหรับการรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
:            4. รายจ่ายค่าเครื่องจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายไปต้องบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินและหักค่าเสื่อมราคาตามระยะเวลา หรือมีสิทธิบันทึกเป็นรายจ่ายได้ทันทีที่มีการซื้อเครื่องจักรสำหรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
:            5. บริษัทฯ มีสิทธินำสำเนาเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการวิจัยตามโครงการดังกล่าว มาบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องนำส่งต้นฉบับเอกสารค่าใช้จ่ายให้กับผู้ให้ทุน
:            6. ภาษีซื้อของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานได้หรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและตามสัญญา ค่าภาษีอากร ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการได้รับเงินทุนอุดหนุนโครงการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการไม่ได้
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1 บริษัทฯ ได้รับสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า ตามระเบียบคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม พ.ศ. 2547 ไปแล้วบริษัทฯ จะต้องนำผลงานที่ผู้ให้ทุนได้ตรวจรับแล้วไปพัฒนาโครงการตามข้อเสนอให้เต็มรูปแบบต่อไปตามวัตถุประสงค์ หรือใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างผลผลิตด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ เอง หากบริษัทฯ มิได้ดำเนินการดังกล่าวและผู้ให้ทุนตรวจพบ บริษัทฯ จะต้องมอบกรรมสิทธิ์ และ/หรือ สิทธิบัตรในงานนั้นและสิทธิอื่นใดทางทรัพย์สินทางปัญญานั้นให้แก่ผู้ให้ทุน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามและตรวจสอบโครงการของผู้ให้ทุนเท่านั้น กรณีจึงไม่ถือว่าบริษัทฯ มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบแทนหรือให้บริการคืนหรือต้องกระทำการใดๆ ตอบแทนสำหรับเงินที่ได้รับในรูปแบบเงินอุดหนุนแบบให้เปล่าแต่อย่างใด เงินสนับสนุนดังกล่าวจึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่บริษัทฯ จะต้องนำเงินอุดหนุนดังกล่าว ไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
:            2. กรณีตาม 2 และ 3 การขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การยื่นคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2545 โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (ว.พ.01) และเอกสารประกอบการพิจารณาต่อกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามข้อ 6 ของประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได ้(ฉบับที่ 3) เรื่อง กำหนดหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2539 และหากบริษัทฯ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 4) เรื่อง รายชื่อผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2539 แล้ว บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ดังนี้
:                 2.1 กรณีรับทำการวิจัยและพัฒนาให้กับตนเอง บริษัทฯ ต้องยื่นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติก่อนหรือหลังการว่าจ้าง เพื่อตรวจสอบและรับรองว่า โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ เมื่อโครงการได้รับการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติแล้ว ก็ให้ถือว่า โครงการดังกล่าวเป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ โดยค่าจ้างที่บริษัทฯ จ่ายให้กับหน่วยงานของบริษัทฯ ในกรณีที่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
:                 2.2 บริษัทฯ สามารถรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ว่าจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
:            3. กรณีตาม 4 เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน โดยให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และบริษัทฯ ต้องดำเนินการยื่นแบบ ค.จ.01 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 48) เรื่อง กำหนดแบบแจ้งการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักร เพื่อการวิจัยและพัฒนาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ด้วย
:            4. กรณีตาม 5 เนื่องจากบริษัทฯ ต้องนำต้นฉบับเอกสารค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ส่งให้กับผู้ให้ทุนเพื่อพิจารณาโครงการ โดยที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ดังนั้น หากบริษัทฯ มีหลักฐานการจ่ายเงินซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) และ (18) แห่งประมวลรัษฎากร
:            5. กรณีตาม 6 ค่าใช้จ่ายก่อนที่บริษัทฯ จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีก่อนวันจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นภาษีซื้อที่เกิดก่อนวันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาชำระเงินและได้รับใบกำกับภาษีภายหลังจากวันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบการของผู้ประกอบการ จึงต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34040

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020