เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4032
วันที่: 15 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเองโดยไม่มีค่าตอบแทน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ข้อ 2 (18)
ข้อหารือ:             ด้วยปรากฏว่าปัจจุบัน กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเองโดยไม่มีค่าตอบแทน ผู้โอนและผู้รับโอนมีข้อสงสัยว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ และจะต้องจัดเตรียมเอกสารใดเพื่อให้ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินตรวจสอบในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
แนววินิจฉัย:             เห็นสมควรชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาตรวจสอบหลักฐานของผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จึงขอเรียนว่า
             1. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเองโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(18) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
             2. การพิจารณาว่า ผู้รับโอนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้โอนหรือไม่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิจารณาตรวจสอบหลักฐานของทางราชการดังต่อไปนี้
                  2.1 กรณีที่บิดาเป็นผู้โอนให้ใช้สูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านตรวจสอบยันกับทะเบียนสมรสของบิดามารดา หรือหลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือหนังสือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว แล้วแต่กรณี
                  2.2 กรณีที่มารดาเป็นผู้โอน ให้ตรวจสอบจากสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว แล้วแต่กรณี
                  2.3 กรณีที่บิดาเป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น หากบิดามารดาได้ทำการสมรสกันก่อนการใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอาจพิจารณาตรวจสอบความเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้โอนได้จากบันทึกฐานะแห่งภริยา ซึ่งบิดามารดาคู่สมรสได้ขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ประกอบกับสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ถ้ามิได้มีการบันทึกดังกล่าวไว้ ก็ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตรวจสอบหลักฐานของทางราชการเท่าที่มีอยู่ คือ สูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้าน ตรวจสอบยันกับหลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือหนังสือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว (ถ้ามี) แล้วแต่กรณี
                  2.4 กรณีที่บุตรซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้มีการสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าได้มีคำพิพากษาของศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็สามารถที่จะนำหลักฐานคำพิพากษาดังกล่าวมาแสดงถึงความเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับโอนได้เช่นกัน
เลขตู้:69/34180

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020