เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 62)

เรื่อง    กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2521 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2526

 

                “ข้อ 2  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีเกี่ยกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 131 ใช้บังคับสำหรับการเหมาจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป)

                 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้

                      (1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”

                      (2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”

                “ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสารซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 146) ใช้บังคับ 6 มกราคม 2548 เป็นต้นไป)

                หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้

                การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)

                “รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

                ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)

 

                “ข้อ 3  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2 ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิค”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 4  ผู้ใดประสงค์จะทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวในข้อ 2 และข้อ 3 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ให้ปฏิบัติตามนั้นได้

 

                ข้อ 5  การจ่ายเงินตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามระเบียบของทางราชการแล้ว ให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2

 

                ข้อ 6  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539

 

ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ภาพหนังสือรับรอง   หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022