เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  (ฉบับที่ 458)

พ.ศ. 2549

________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 21  มิถุนายน พ.ศ. 2549

เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

                       โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปีสร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551)

 

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

                       มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 458) พ.ศ. 2549”

 

                       มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                       มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปีสร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551) แก่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ดังต่อไปนี้

 

                                  (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551) แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2551

 

                                  (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551) แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2551

                                 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                 ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดังต่อไปนี้

                                (1) จัดหาอุปกรณ์กีฬาสำหรับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันกีฬา

                                (2) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา  

 

                      มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้าหรือการให้บริการอันเนื่องมาจากการดำเนินการสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551) โดยผู้โอนต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

                       มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

       นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเล่นกีฬาเพื่อยกระดับมาตรฐานการกีฬาและเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยของประชาชน โดยกำหนดยุทธศาสตร์สี่ปีสร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 – 2551) ขึ้น ดังนั้น เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกีฬามากขึ้น สมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                     

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 70 ก  วันที่ 5 กรกฎาคม 2549)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022