---------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (75) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(75) เงินได้จากการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการและผู้ลงทุนในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ยดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ตลอดจนสินค้าหรือตัวแปรอื่น เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและจูงใจให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้น และส่งเสริมให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมควรกำหนดให้เงินได้จากการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 43 ก วันที่ 27 เมษายน 2549)