เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5270
วันที่:22มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายรถยนต์นั่ง และเฟอร์นิเจอร์
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(8)(ช) และมาตรา 79/7 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัทฯ ขอหารือการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขายรถยนต์นั่ง และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ ณ วันได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
               1. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 บริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์นั่งมาในราคา 6,775,000 บาท โดยบริษัทฯ ได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ตามวิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน ต่อมารถยนต์ดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุในปี 2547 บริษัทฯ ไม่สามารถซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติได้ จึงขายรถยนต์คันดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 ในราคา 2,000,000 บาท ซึ่งราคาขายปัจจุบันของรถยนต์ใหม่มีมูลค่า 4,250,000 บาท บริษัทฯ เห็นว่า มูลค่าต้นทุนของรถยนต์ที่จะนำไปใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ควรเป็นราคาซื้อ หักด้วยค่าเสื่อมราคาจำนวน 969,681.78 บาท ถือเป็นจำนวนมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ณ วันที่ขาย
               2. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่าห้องพักและเฟอร์นิเจอร์ ได้ขอให้อธิบดีกรมสรรพากรสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกรกฎาคม 2548 ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ เฟอร์นิเจอร์ บริษัทฯ จึงขอทราบว่าบริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าสุทธิของเฟอร์นิเจอร์คงเหลือตามบัญชีมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หรือจะต้องใช้มูลค่าใดในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย:                 1.กรณีตาม 1. บริษัทฯ ขายรถยนต์นั่งที่ซื้อมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ มูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่บริษัทฯ จะนำมาถือเป็นต้นทุนในปีที่ขาย ต้องเป็นมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่คำนวณจากมูลค่าต้นทุนไม่เกินหนึ่งล้านบาทเท่านั้น ตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งคันดังกล่าวไปแล้วเป็นจำนวน 969,681.78 บาท บริษัทฯ จึงมีสิทธิตัดต้นทุนทรัพย์สินที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้จำนวน 30,318.22 บาท (1,000,000 - 969,681.78 = 30,318.22) สำหรับมูลค่าของรถยนต์ส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท บริษัทฯ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315)พ.ศ.2540
                2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกรณีอื่นที่ถือว่าเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดในวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/7 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีบางกรณี (ฉบับที่ 245) พ.ศ.2534
เลขตู้:69/34312

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020