เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.07)/804
วันที่:27 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย:ข้อ 12/1(2) และข้อ 12/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อไก่แช่แข็งเพื่อการส่งออกโดยได้รับ บัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวน 9 บัตร ซึ่งมีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันไปแต่เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในบริเวณเดียวกัน แต่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแตกต่างกันไป บริษัทฯ มีปัญหาเกี่ยวกับการแยกบัญชีของผลิตภัณฑ์ จึงขอหารือว่า
             1. ในปี 2543 บัตรส่งเสริมบัตรที่ 1 ซึ่งส่งเสริมการฆ่าชำแหละไก่ครบวงจร โดยมีปริมาณการผลิตไก่ชำแหละจำนวน 33.6 ล้านตัวต่อปี ได้สิ้นสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว แต่บริษัทฯ ยังคงได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรที่ 6 ซึ่งส่งเสริมการผลิตไก่สดแช่แข็ง ฆ่าและชำแหละไก่จำนวน 14 ล้านตัวต่อปี ถ้าบริษัทฯ ผลิตไก่ชำแหละได้ 45 ล้านตัวโดยใช้ไก่ที่บริษัทฯ ซื้อจากฟาร์มไก่ที่บริษัทฯ ประกันราคาจะถือว่า ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของบัตรที่ 6 จำนวน 14 ล้านตัว โดยไก่ที่เหลืออีก 31 ล้านตัวจะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคล ใช่หรือไม่
             2. บริษัทฯ ผลิตลูกไก่ภายใต้บัตรส่งเสริมบัตรที่ 1 บัตรที่ 2 บัตรที่ 3 และบัตรที่ 5 บริษัทฯ จะนำลูกไก่ที่ผลิตได้ตามบัตรที่ 1 ส่งให้แก่ฟาร์มไก่กระทงของบริษัทฯ ก่อน ส่วนลูกไก่ที่เหลือตามบัตรที่ 1 และตามบัตรส่งเสริมต่อ ๆ มาจะขายให้กับฟาร์มไก่ที่บริษัทฯ ประกันราคาได้หรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้ว่าลูกไก่มาจากตู้ฟักของโครงการใด
             3. กรณีการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามข้อ 3 และข้อ 4 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 หากบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิ ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก่อนคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หากบริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนจากกิจการดังกล่าวไปหักออกจากผลกำไรของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้ ตามข้อ 4 ของประกาศกรมสรรพากร ฯ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
เลขตู้:69/34329

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020