เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5030
วันที่:14 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 82/6 และมาตรา 91/2(1)(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าทั้งประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ หารือ กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีข้อเท็จจริงว่า
             1. กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการขายหุ้นโดยได้ขายหุ้นทั้งกรณีขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกรณีการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ในการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535 บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายหุ้นดังกล่าว มาถือเป็นสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
             2. การประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด โดยแยกเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 95 และเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อโดยนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ต่อมาเมื่อสิ้นปี 2548 ปรากฏว่าสัดส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด โดยแยกเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 80 และเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 20 ดังนั้น เมื่อสิ้นปี 2548 บริษัทฯ ต้องปรับปรุงภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในปี 2548 ให้เป็นไปตามจริงก่อน แล้วจึงนำสัดส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2548 ใช้เป็นสัดส่วนในการเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในปี 2549 หรือ บริษัทฯ ไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในปี 2548 โดยนำสัดส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2548 ใช้เป็นสัดส่วนในการเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในปี 2549 ได้
             3. เมื่อสิ้นปี 2549 หากปรากฏว่า บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด โดยแยกเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 92 และเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 8 บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อโดยเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว หรือไม่
แนววินิจฉัย:             1. กรณีตาม 1. ในการเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ ซึ่งมิใช่บริษัทที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 91/2(1) (2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร และประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีรายได้จากการขายหุ้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
                1.1 กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและเข้าลักษณะเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 4(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ แต่เนื่องจากตามข้อ 4 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว กำหนดว่า รายได้ตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึง รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรา 91/2(1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น รายได้จากการขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นรายได้ที่เกิดจากการนำเงินไปหาประโยชน์จากการซื้อหลักทรัพย์ จึงถือเป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นฐานรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ โดยไม่ถือเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นฐานรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ทั้งนี้ ตามข้อ 4 วรรคสอง และข้อ 4(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
                1.2 กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์และรายได้จากการขายหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รายได้ดังกล่าวถือเป็นรายได้ที่เกิดจากการนำเงินไปหาประโยชน์จากการซื้อหลักทรัพย์ ตามข้อ 4 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ดังนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าวมาถือเป็นสัดส่วนรายได้ของกิจการเพื่อเฉลี่ยภาษีซื้อ
             2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ เลือกเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา หากในปีใดรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด บริษัทฯ ใช้สิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสิ้นปี 2548 แม้บริษัทฯ มีรายได้แยกเป็นสัดส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 80 และเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 20 ก็ตาม ในปี 2548 บริษัทฯ ต้องนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย เนื่องจากในปี 2547 สัดส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวนร้อยละ 95 และของกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวนร้อยละ 5 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ มีรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด บริษัทฯ จึงต้องนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว โดยบริษัทฯ ไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้อเมื่อสิ้นปี 2548 แต่ในปี 2549 บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนรายได้ของปี 2548 ซึ่งไม่มีสิทธินำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย เนื่องจากรายได้ของปี 2548 กิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
             3. กรณีตาม 3. หากสิ้นปี 2549 บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด ในปี 2550 บริษัทฯ ต้องนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย ตามข้อ 3(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ ใช้สิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายกรณีมีรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด และเมื่อบริษัทฯ ได้เลือกปฏิบัติตามกรณีดังกล่าวแล้วบริษัทฯ ต้องถือปฏิบัติตลอดไป เว้นแต่บริษัทฯ จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้:69/34287

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020