เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./5031 |
วันที่ | :14 มิถุนายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 81(1)(ค)(ง)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรได้ออกตรวจสภาพกิจการ ราย บริษัท เอ. บริษัทฯ เดิมเป็นแผนกหนึ่งของบริษัท อา ต่อมาได้จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 มีรายได้จากการขายวัสดุปรับปรุงดิน ปุ๋ยน้ำและผลิตปุ๋ยผง มีสาขา 2 แห่ง คือ สาขาที่ 1 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จะดูแลผลพลอยได้ของ บริษัท อา โรงงานพระประแดงและปทุมธานี สาขาที่ 2 ตั้งอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ดูแลผลพลอยได้ของบริษัท อา ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯประกอบด้วย - ปุ๋ยเคมี (Fetilizer) เช่น แอมโมเนียซัลเฟตและแอมโมเนียคลอไรด์ - วัตถุดิบเพื่อการผลิตปุ๋ย (Fetilizer raw material) เช่น ฮิวมัส พีวันเค็ก - วัสดุปรับปรุงดินชนิดแห้ง (Solid soil conditioner) ได้แก่ อามิเมท - วัสดุปรับปรุงดินชนิดน้ำ (Liquid soil conditioner ) ได้แก่ อามิ-อามิ - อาหารสัตว์ (Animal feed ) เช่น ชูการ์ไลท์ สินค้าทั้งหมดเป็นผลพลอยได้จากขบวนการผลิตผงชูรส ของบริษัท อา ซึ่งบริษัท อา ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ แต่เมื่อบริษัทฯ จำหน่ายสินค้าต่อให้เกษตรกร จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานสรรพากร เห็นว่า สินค้าของบริษัทฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือหารือและชี้แจงรายละเอียดสินค้า เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ 1. อามิอามิจี และซุปเปอร์ อามิ เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส มีลักษณะเหลวสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแทสเซียม แคลเซียม แม็กนีเซียม กำมะถันและอินทรียวัตถุในรูปกรดอะมิโน แบ่งตามลักษณะการใช้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ 1.1 ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช อินทรียวัตถุจากอามิอามิจี จะทำให้พืชเขียวทนนาน และยังช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ ลักษณะของการใช้เกษตรกรจะฉีดปุ๋ยรองพื้นแทนปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีอื่นๆ โดยฉีดก่อนหรือระหว่างการเตรียมดินแล้วไถพรวน ทำการคลุกเคล้าผสมกับดินให้เข้ากันแล้วจึงหว่านข้าว เมล็ดหรือลงต้นอ่อนของพืช หรือจะรอให้พืชโตสักระยะหนึ่งแล้วค่อยฉีดอามิอามิจี 1.2 ใช้เป็นอาหารสัตว์โดยใช้เลี้ยงปลาและกุ้งได้ อินทรีย์วัตถุในอามิอามิจี และซุปเปอร์ อามิ ทำให้โครงสร้างของดินและน้ำในบ่อดีขึ้น ช่วยปรับสภาพของน้ำในบ่อให้เหมาะสมกับการอนุบาลลูกปลาลูกกุ้ง ทำให้ปลาหรือกุ้งเจริญเติบโตได้ดีขึ้น อัตรารอดสูง ไม่เป็นโรค ลักษณะการใช้เกษตรกรจะฉีดอามิอามิจีทั่วบ่อ ไร่ละ 200-300 ลิตร ก่อนหรือหลังปล่อยน้ำเข้าบ่อทิ้งไว้ อย่างน้อย 7 วัน จะเกิดแพลงตอน จึงปล่อยลูกปลาเพื่ออนุบาลหรือเลี้ยงต่อไป หรือจะใส่บ่อในขณะที่มีการเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งก็ได้ จะทำให้ปลาและกุ้งเจริญเติบโตดีขึ้น บริษัทฯ เห็นว่า ตามลักษณะและคุณสมบัติการใช้งาน การขายอามิอามิจี และซุปเปอร์ อามิ เป็นการขายปุ๋ย การขายอาหารสัตว์ หรือเป็นการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) มาตรา 81(1)(ง) และมาตรา 81 (1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 2. อามิเมท เป็นผลพลอยได้จากการผลิตผงชูรส มีลักษณะเป็นเม็ดและเป็นผง แบ่งเป็น 2.1 อามิเมทจี มีลักษณะเป็นเม็ด ประกอบด้วย ไนโตรเจน 6% ฟอสฟอรัส 2% โปรแทสเซียม 2% 2.2 อามิเมทเค มีลักษณะเป็นผง ประกอบด้วย ไนโตรเจน 15% ฟอสเฟต 0% โปรแทสเซียม 10% 2.3 อามิเมทเจ มีลักษณะเป็นผง ประกอบด้วย ไนโตรเจน 5% ฟอสเฟต 1% โปรแทสเซียม 1% นอกจากธาตุอาหารหลักประเภทไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแทสเซียมแล้วสินค้าในกลุ่มอามิเมทยังประกอบด้วยธาตุอาหารรองประเภทแคลเซียม แม็กนีเซียม กำมะถัน อินทรีย์วัตถุประเภทกรดอะมิโน และอามิเมทยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสินค้าในกลุ่มอามิ อามิ โดยอินทรียวัตถุจะทำให้พืชเขียวทนนาน ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ โดยปุ๋ยอามิเมทจะไปช่วยเร่งความเจริญเติบโตของพืช ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ บริษัทฯ เข้าใจว่า การขายอามิเมท เป็นการขายปุ๋ย หรือเป็นการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ค) และมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 3. แอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส มีลักษณะเป็นเม็ดขาวอมน้ำตาล ประกอบด้วยไนโตรเจนอย่างเดียว จำหน่ายให้กับโรงงานปุ๋ย เพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยเม็ด โดยโรงงานปุ๋ยจะนำไปผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ด ฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้น บริษัทฯ เห็นว่า การขายแอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 4. แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิต แอลไลซีน (แอลไลซีนเป็น อาหารเสริมสำหรับสัตว์ประเภทโปรตีน) มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวอมน้ำตาล มี 2 ชนิดได้แก่ (ก) แอมโมเนียมซัลเฟต แอล ที่ผลิตที่โรงงานปทุมธานีจะประกอบด้วย ไนโตรเจน (N) ประมาณ 18-20% มีความชื้นน้อยกว่า 3% บริษัทฯ จะจำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ยเม็ดที่จะซื้อไปใช้ผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ด ฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้น (ข) แอมโมเนียมซัลเฟต เค ที่ผลิตที่โรงงาน กำแพงเพชร ประกอบด้วยไนโตรเจน 15-17% และโปรแทสเซียม 8-10% จะจำหน่ายแบบเทกองหน้าโรงงาน ให้ผู้ผลิตปุ๋ยมาซื้อใส่รถบรรทุกไป หรือจะใส่ถุงขาย เกษตรกรเรียกชื่อทางการค้าว่า "ซุปเปอร์เมท" เกษตรกรจะนำปุ๋ยเคมีนี้ไปผสมกับปุ๋ยฟอสเฟต ในอัตราส่วนที่เพียงพอกับพืชแต่ละชนิด บริษัทฯ เห็นว่า การขายแอมโมเนียมซัลเฟต แอล เป็นการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานสรรพากรมีความเห็น ดังนี้ 1. อามิอามีจีและซุปเปอร์ อามิ ตาม 1. เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ทางราชการเรียกว่า วัสดุปรับปรุงดิน ไม่เข้าลักษณะเป็นปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเพียงตัวที่ทำให้โครงสร้างของดินและน้ำในบ่อดีขึ้น ช่วยปรับสภาพของน้ำในบ่อให้เหมาะสมกับการอนุบาลลูกปลา ลูกกุ้ง มีธาตุอาหารและไวตามินต่างๆ ที่จำเป็นทำให้เกิดแพลงตอนในบ่อเป็นอาหารของลูกปลาลูกกุ้ง จึงไม่เข้าลักษณะเป็นอาหารสัตว์ และไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ง) และมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 2. อามิเมท ตาม 2. เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส ซึ่งตามหนังสือของกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า อามิเมทเป็นเพียงวัสดุปรับปรุงดิน ไม่เข้าข่ายการควบคุมตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ใช่ปุ๋ยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)( จ) แห่งประมวลรัษฎากร 3. แอมโมเนียมคลอไรด์ ตาม 3.เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส จำหน่ายให้กับโรงงานปุ๋ย เพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยเม็ด โดยโรงงานปุ๋ยจะนำไปผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ดฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้น ไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 4. สินค้าแอมโมเนียมซัลเฟต แอล ที่ผลิตที่โรงงานปทุมธานี บริษัทฯ จะจำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ยเม็ดที่จะซื้อไปผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ด ฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้นไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรู หรือโรคของพืชและสัตว์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนสินค้าแอมโมเนียมซัลเฟต เค ที่ผลิตที่โรงงาน กำแพงเพชร บริษัทฯ จะจำหน่ายแบบเทกองหน้าโรงงานให้ผู้ผลิตปุ๋ยมาซื้อใส่รถบรรทุกไป และจะใส่ถุงขายเกษตรกรเรียกชื่อทางการค้าว่า ซุปเปอร์เมท ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานสรรพากรภาค 1 เห็นว่า "ปุ๋ย" ตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้มีคำจำกัดความ หรือคำนิยามให้ความหมายไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งให้ความหมายว่า "ปุ๋ย" หมายถึง สิ่งที่ใส่ลงไปในดินหรือให้ธาตุอาหารพืชหนึ่งหรือหลายธาตุ "ปุ๋ยเคมี" หมายถึง ปุ๋ยที่ผลิตขึ้นโดยกระบวนการทางเคมีให้มีธาตุอาหารหลักเพียงธาตุเดียวหรือหลายธาตุ "ปุ๋ยอินทรีย์" หมายถึงปุ๋ยที่ได้จากพืชและซากสัตว์ คำจำกัดความ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ให้ความหมายดังนี้ "ปุ๋ย" หมายความว่า สารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช "ปุ๋ยเคมี" หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์ หรืออินทรีย์สังเคราะห์รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ และหมายความตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย ตามคำจำกัดความข้างต้นพิจารณารวมแล้ว ปุ๋ย จึงหมายถึง วัสดุใดก็ตามที่ใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืช กรณีบริษัทฯ ซื้อผลพลอยได้จากขบวนการผลิตผงชูรสของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ(ประเทศไทย) จำกัด ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ แต่บริษัทฯ จำหน่ายสินค้าให้เกษตรกรโดยไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและบริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งพิจารณาแยกตามชนิดของสินค้า ดังนี้ 1. อามิอามิจีและซุปเปอร์ อามิ ซึ่งเป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส ประกอบด้วยแร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุ ในรูปกรดอะมิโน มีลักษณะเหลว สีน้ำตาลเข้ม แบ่งลักษณะการใช้ 2 ประเภท คือ 1.1 กรณีใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช เกษตรกรจะฉีดอามิอามิจี รองพื้นแทนปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีอื่นๆ ก่อนหรือระหว่างการเตรียมดินแล้วไถพรวน แล้วจึงหว่านเมล็ด หรือต้นอ่อนของพืช หรือจะรอให้พืชโตก่อนจึงฉีดอามิอามิจีช่วยให้พืชเขียวทนนานและช่วยปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ ซึ่งกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พิจารณาสถานภาพ ของ "อามิ-อามิ" และได้รับคำชี้แจง ตามหนังสือที่ กษ 0904/0565 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2531 ว่า "จัดเป็นปุ๋ย แต่มิใช่ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ไม่ต้องขึ้นทะเบียนปุ๋ย หรือขอใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ทางราชการเรียกว่า เป็นวัสดุปรับปรุงดิน" หากแต่จากนิยามคำว่า "ปุ๋ย" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 หมายความว่า สารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารสำหรับพืช หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช ซึ่งสอดคล้องกับ คำว่า "ปุ๋ย" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่ง หมายถึง สิ่งที่ใส่ลงไปในดินหรือให้ธาตุอาหารพืชหนึ่งหรือหลายธาตุ และจากการที่บริษัทฯ ได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปให้หน่วยงานต่างๆ ทดลองใช้ในนาข้าว พืชไร่ โดยมีผลการทดลองตามที่บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า คุณสมบัติของอามิอามิจี ที่ช่วยปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และช่วยให้พืชเจริญเติบโต เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นปุ๋ย ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร 1.2 กรณีใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยใช้ฉีดใส่ในบ่อก่อนหรือหลังปล่อยน้ำเข้าบ่อ ช่วยทำให้โครงสร้างของดินและน้ำในบ่อดีขึ้น ปรับสภาพน้ำในบ่อให้เหมาะสมกับการอนุบาลลูกปลาลูกกุ้ง ธาตุอาหาร ไวตามินจะช่วยทำให้เกิดแพลงตอน หรือไรแดง หนอนแดง ในบ่อเป็นอาหารของลูกปลาลูกกุ้ง ต่อไป เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถใช้กินเป็นอาหารได้ทันที ประกอบกับสินค้าดังกล่าวไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ไว้กับกรมปศุสัตว์ และเป็นยาหรือเคมีที่ใช้สำหรับสัตว์ จึงไม่ใช่การขายอาหารสัตว์ และไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของสัตว์ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ง) และมาตรา 81 (1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 2. อามิเมท แบ่งเป็น อามิเมทจี อามิเมทเค และอามิเมทเจ เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส มีลักษณะเป็นเม็ดและเป็นผงซึ่งประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และอินทรีย์วัตถุประเภท กรดอะมิโน และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ อามิอามิ และอามิจี เมื่อใช้กับพืช คือจะช่วยเร่งความเจริญเติบโตของพืช ซึ่งกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรพิจารณาจากความเห็นของนักวิชาการเกษตรด้านปฐพีวิทยา ยืนยันให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ไม่เข้าข่ายการควบคุมตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ตามหนังสือที่ กษ 0904/741 ลงวันที่ 5 เมษายน 2536 แต่มีคุณสมบัติที่จะช่วยเร่งความเจริญเติบโตของพืช จึงเข้าลักษณะเป็นปุ๋ย ทำนองเดียวกับ 1.1 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 3. แอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตผงชูรส มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวอมน้ำตาล ประกอบด้วยไนโตรเจนอย่างเดียว บริษัทฯ จำหน่ายให้กับโรงงานปุ๋ยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยเม็ดโดยโรงงานปุ๋ยจะต้องนำไปผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ดฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้น จึงมิใช่การขายปุ๋ย และไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) และมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร 4. แอมโมเนียมซัลเฟต แอล เป็นวัตถุพลอยได้จากการผลิตแอลไลซีน (แอลไลซีนเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ ประเภทโปรตีน) ซึ่งผลิตที่โรงงานปทุมธานี บริษัทฯ จำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ยเม็ดเพื่อไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อทำเป็นปุ๋ย มิใช่ผลิตเป็นปุ๋ยจำหน่ายให้เกษตรกรไปใช้โดยตรง จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แอมโมเนียมซัลเฟต เค ที่ผลิตที่โรงงานกำแพงเพชร เรียกชื่อทางการค้าว่า "ซุปเปอร์เมท" บริษัทฯ ผลิตเป็นปุ๋ยเคมีและจำหน่ายให้เกษตรกรไปใช้เป็นปุ๋ย โดยแบ่งบรรจุถุง ซึ่งมี 2 สูตรเป็นปุ๋ยเคมีตามคุณลักษณะปุ๋ย ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี ตามใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ตามทะเบียนเลขที่ 527/2545 และทะเบียนเลขที่ 642/2546 เห็นว่า มีลักษณะเป็นปุ๋ย ทำนองเดียวกับ 1.1 และ 2. ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้เคยมีทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามบันทึกที่ กค 0706/พ./7565 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2547 และหนังสือที่ กค 0706/พ./10160 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ความว่า หากผลิตภัณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรระบุคุณสมบัติและองค์ประกอบไม่จัดเป็นปุ๋ยเคมี ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากสินค้าของบริษัทฯ จำหน่ายให้กับเกษตรกรไปใช้ในการเกษตรโดยตรง ซึ่งการวินิจฉัยจะส่งผลกระทบภายหลังต่อปัจจัยการผลิตของภาคการเกษตร อนึ่ง สำนักงานสรรพากรภาค 7 ได้มีหนังสือที่ กค 0715/สว.15122 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2548 หารือการพิจารณาการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอามิ อามิ ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัท เอฟดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กำแพงเพชร เป็นผู้หารืออธิบดีกรมสรรพากรว่า หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ซึ่งจะแบกรับภาระภาษี จึงเห็นควรส่งเรื่องรวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน สำนักงานสรรพากรภาค 1 จึงขอหารือกรมสรรพากรว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ นั้น |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1 อามิอามิจีและซุปเปอร์ อามิ กรณีใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช เกษตรกรจะฉีดอามิ-อามิจีรองพื้นแทนปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีอื่นๆ ก่อนหรือระหว่างการเตรียมดินแล้วไถพรวน แล้วจึงหว่านเมล็ด หรือลงต้นอ่อนของพืช หรือจะรอให้พืชโตก่อนจึงฉีดอามิ-อามิจี ช่วยให้พืชเขียวทนทานและช่วยปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ ซึ่งตามหนังสือของกรมควบคุมพืชและวัสดุปุ๋ยเคมี ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ไม่ต้องขึ้นทะเบียนปุ๋ย หรือขอใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ซึ่งทางราชการเรียกว่า "วัสดุปรับปรุงดิน" ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นปุ๋ย จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีใช้เป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรจะฉีดใส่ในบ่อก่อนหรือหลังปล่อยน้ำเข้าบ่อ ช่วยทำให้โครงสร้างของดินและน้ำในบ่อดีขึ้น ปรับสภาพน้ำในบ่อให้เหมาะสมกับการอนุบาลลูกปลา ลูกกุ้ง ธาตุอาหาร ไวตามินจะช่วยทำให้เกิดแพลงตอน หรือไรแดง หนอนแดงในบ่อเป็นอาหารของลูกกุ้งลูกปลาต่อไป โดยสัตว์ไม่สามารถใช้กินเป็นอาหารได้ทันที คุณลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่อาหารสัตว์ และไม่อาจถือได้ว่า เป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ง) และมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ;2. กรณีตาม 2. อามิเมท มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับอามิอามิจี เมื่อใช้กับพืชจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช แต่ตามหนังสือของกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรที่ กษ 0904/741 ลงวันที่ 5 เมษายน 2536 ยืนยันว่า เป็น "วัสดุปรับปรุงดิน" ไม่เข้าข่ายการควบคุมตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 และไม่อาจถือได้ว่า เป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) และมาตรา 81(1)(จ)แห่งประมวลรัษฎากร 4. กรณีตาม 4 (ก) แอมโมเนียมซัลเฟต แอล บริษัทฯ จำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ยเม็ดเพื่อไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อทำเป็นปุ๋ย มิใช่ปุ๋ยที่จำหน่ายให้เกษตรกรไปใช้โดยตรง จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีตาม 4 (ข) แอมโมเนียมซัลเฟต เค เรียกชื่อทางการค้าว่า "ซุปเปอร์เมท" บริษัทฯ ผลิตเป็นปุ๋ยเคมีจำหน่ายให้เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ย เป็นปุ๋ยเคมี ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีตามใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ตามทะเบียนเลขที่ 527/2545 และ 642/2546 จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร3. กรณีตาม 3 แอมโมเนียมคลอไรด์ บริษัทฯ จำหน่ายให้โรงงานปุ๋ยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยเม็ดโดยโรงงานปุ๋ยจะต้องนำไปผสมกับปุ๋ยหมัก ดินจับเม็ดฮิวมัส เพื่อให้ปุ๋ยมีสารอาหารเพิ่มขึ้น กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ได้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34285 |