เลขที่หนังสือ | : กค 0706/5334 |
วันที่ | :22 มิถุนายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 48(1) มาตรา 56 มาตรา 65 ตรี (3)(13) และ (19) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ฟ. จำกัด ได้จ่ายเบี้ยประกันชีวิต ดังนี้ 1. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรรมการของบริษัทฯ ตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายแทนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดาที่เป็นกรรมการมีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้หรือไม่ 2. กรณีข้อกำหนดหรือมติที่ประชุมของบริษัทฯ กำหนดให้มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตลอดจนพนักงาน บิดามารดา สามี ภริยา และบุตรของพนักงาน บริษัทฯ จะนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายแทนดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่ 3. กรณีบริษัทฯ มีมติให้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่กรรมการทุกคน หรือพนักงานเป็นการทั่วไป และมีมติให้จ่ายกับกรรมการของบริษัทอื่นที่มาเข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 25 อีกประมาณ 3-10 ท่าน บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้ด้วย หรือไม่ 4. กรณีบริษัทฯ มีผลกำไรจากการประกอบกิจการ หากบริษัทฯ จะทำประกันชีวิตให้กับพนักงานของบริษัทฯ โดยคำนวณจากกำไรสุทธิ 100 บาท ทำประกันชีวิต 50 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวจะลงรายจ่าย ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นการทั่วไปตามระเบียบและสวัสดิการของบริษัทฯ โดยมติที่ประชุมของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรรมการและพนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรรมการและพนักงานสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับประกันชีวิตออกให้นั้น มาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เฉพาะในปีที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต และรายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนผู้ถือหุ้น บิดามารดา สามี หรือภริยา และบุตรของพนักงาน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการของบริษัทอื่นที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 25 ประมาณ 3-10 ท่าน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ ทำประกันชีวิตให้กับพนักงานโดยนำกำไรสุทธิมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต ถือเป็นการจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34313 |