เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./4804
วันที่:2 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าภายในประเทศ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ จำกัด ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจัดการรับขนถ่ายสินค้าและบริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ โดยบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลูกค้า ดังต่อไปนี้
             1. ให้บริการเก็บสินค้าในคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมกับให้บริการขนส่งระหว่างโรงงานของลูกค้าและคลังสินค้าของบริษัทฯ
             2. ให้บริการขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าไปยังผู้ซื้อโดยไม่ผ่านคลังสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งเรียกว่า "การส่งตรง"
             การให้บริการดังกล่าว โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการขนส่งเดือนละประมาณ 20 -25 ล้านบาท และค่าบริการคลังสินค้าเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการคลังสินค้าและค่าบริการขนส่งแยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการคลังสินค้า ส่วนค่าบริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
             บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ หากบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งและราคาค่าบริการเก็บรักษาสินค้าออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า จึงมีสิทธิแยกคำนวณค่าขนส่งต่างหากจากค่าบริการคลังสินค้าได้
เลขตู้:69/34260

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020