เลขที่หนังสือ | : กค กค 0706/พ./4756 |
วันที่ | :31 พฤษภาคม 2549 |
เรื่อง | :ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการให้บริการอพาร์ทเมนท์พักอาศัย |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 77/1(8)(9)(10) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1 มาตรา 81(1)(ต) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : 1. การประกอบกิจการของบริษัทฯ เป็นการให้บริการแก่สมาชิก ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยตามสัญญาให้บริการระหว่างบริษัทฯ กับสมาชิก บริษัทฯ ได้ให้บริการต่าง ๆ แก่สมาชิก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย สนามเทนนิส ฯลฯ จะเห็นได้ว่า บริษัทฯ มีการให้บริการมากกว่าการให้เช่าอพาร์ทเมนท์เพื่ออยู่อาศัย และมีการคิดค่าบริการจากสมาชิกเป็นรายเดือน ค่าสมาชิกที่บริษัทฯ ได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. การประกอบกิจการอพาร์ทเมนท์ของบริษัทฯ มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับโรงแรม จะไม่มีการส่งมอบการครอบครองโดยเด็ดขาด การส่งมอบสิทธิการครอบครองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกำหนดความแตกต่างระหว่างธุรกิจ ในกรณีของบริษัทฯ ไม่มีการส่งมอบการครอบครองในอพาร์ทเมนท์ให้แก่สมาชิกโดยเด็ดขาด คือ 2.1 บริษัทฯ จัดให้มีสมุดลงทะเบียนสมาชิกที่จะบันทึกรายละเอียด และจำนวนสมาชิก เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าพักแต่ละครั้ง ซึ่งมีการปฏิบัติลักษณะทำนองเดียวกันกับโรงแรม 2.2 บริษัทฯ ได้ส่งมอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้เปิด-ปิดห้อง และยังถือกุญแจสำรองเพื่อจะเข้าไปยังห้องพักได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจากนั้น ในช่วงระยะเวลาระหว่างการให้บริการตามสัญญา หากสมาชิกไม่ได้เข้าพัก บริษัทฯ สามารถเข้าไปในห้องพักได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสมาชิกเพื่อเข้าไปดูแลรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณระเบียงห้องพัก หรือการทำความสะอาดห้องพักโดยแม่บ้าน เนื่องจากการทำความสะอาดนั้นไม่ได้รวมอยู่ในรายการอำนวยความสะดวกที่บริษัทฯ ได้จัดเตรียมไว้ หากสมาชิกต้องการใช้บริการดังกล่าว ต้องร้องขอเป็นกรณีไป และต้องชำระค่าบริการแยกต่างหากจากค่าสมาชิกรายเดือน 2.3 บริษัทฯ มีอำนาจควบคุมการเข้าห้องพักอย่างเต็มที่ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนรหัสกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ในความปลอดภัย 2.4 สมาชิกหรือสมาชิกร่วมจะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมพักอาศัย จะต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากบริษัทฯ 2.5 บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องแจ้งให้สำนักตรวจคนเข้าเมืองทราบทุกครั้งที่มีคนต่างด้าวเข้าพักในห้องพัก ทั้งนี้ ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่เป็นบ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นตั้งอยู่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย |
แนววินิจฉัย | : บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการอพาร์ทเมนท์แก่สมาชิก ซึ่งก่อนที่สมาชิกเข้าพักบริษัทฯ จัดให้มีการลงทะเบียนเข้าพัก บริษัทฯ มีสิทธิเปลี่ยนรหัสกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ห้องพักได้ตามความเหมาะสม รวมถึงให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย สนามเทนนิส เป็นต้น การประกอบกิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร เทียบได้กับแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 90/2542ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร และการให้บริการไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34255 |