เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5468
วันที่:29 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย:ข้อ 12/1(2) และข้อ 12/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างทำตู้คอนเทนเนอร์ที่จะประกอบเป็นตู้แล้วใช้ในการสื่อสาร ซึ่งต้องใช้เหล็กเคลือบสีเป็นวัสดุหลักในการประกอบเป็นตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทฯ สั่งซื้อเหล็กจากบริษัท ก. จำกัด และได้ว่าจ้างบริษัท ข. ทำการตัดเหล็กของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้ส่งเหล็กไปให้กับบริษัท ข. เป็นจำนวนคราวละมากๆ ต่อมาบริษัท ข. จะทยอยตัดเหล็กที่ส่งไปตามจำนวนงานที่บริษัทฯ ได้รับงานจากการประมูล จึงทำให้มีเหล็กของบริษัทฯ ค้างอยู่กับบริษัท ข. เป็นจำนวนมาก บริษัท บางกอกฯ จะจัดเก็บเหล็กไว้ที่ชั้นในสโตร์เก็บเหล็ก พร้อมกับคิดค่าบริการจัดเก็บรักษาเหล็กตันละ 5 บาทต่อวัน จากจำนวนเหล็กที่เหลือในวันสิ้นเดือนตลอดไป การบริการในกรณีนี้ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การจ่ายค่าจ้างตัดเหล็ก บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ทุกคราวที่จ่ายเงินใช่หรือไม่ และกรณีการจ่ายค่าบริการเก็บเหล็กไม่เกินหนึ่งพันบาท บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างตัดเหล็กรวมทั้งจ่ายค่าบริการเก็บรักษาเหล็กที่ตัดไม่หมดอันเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาระยะยาวให้แก่บริษัท ข. ตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่ จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าจ้างตัดเหล็กและค่าบริการเก็บรักษาเหล็กดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 8 ข้อ 12/1(2) และ ข้อ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งการจ่ายค่าบริการทั้งสองกรณีหากไม่ถึงหนึ่งพันบาท บริษัทฯ ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด แต่ถ้าการจ่ายค่าบริการในครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะต้องนำเงินค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อนๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย
เลขตู้:69/34324

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020