เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/818
วันที่:30 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              นาง ส. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ประจำปีภาษี 2548 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 โดยนาง ส. ได้แสดงรายการภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ซึ่งได้รับตามคำพิพากษาตามยอม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 โดยนาง ส. ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากบริษัท อ. ต่อมานาง ส. ได้ทราบภายหลังว่า เงินจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ส. จึงขอให้พิจารณาคืนเงินภาษีที่ได้ชำระเกินไปเป็นจำนวนเงิน 57,160 บาท จึงหารือว่า เงินได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีเงินได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความสำหรับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งนาง ส. ได้ยื่นฟ้องบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยฐานะที่เป็นลูกจ้างและบริษัทฯ เป็นนายจ้าง เงินค่าเสียหายที่นาง ส. ได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร อันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น บริษัทผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34338

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020