เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5429
วันที่:28 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทให้แก่กรรมการและพนักงาน
ข้อกฎหมาย:มาตรา 40(1)(2) มาตรา 50(1) มาตรา 52 มาตรา 56 มาตรา 56 ทวิ และมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัท อ. ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัทฯ ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิสามารถใช้สิทธิในแต่ละครั้งในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งสามารถใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิได้ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 30 ธันวาคม ของแต่ละปีตลอดอายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยกำหนดการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2550 ถึง วันที่ 25 กันยายน 2550 อัตราและราคาการใช้สิทธิ (Exercise Price) อัตราต่อหนึ่งหน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิต่อหนึ่งหุ้นสามัญ ราคาในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญหุ้นละ 1 บาท ทั้งนี้ ครบกำหนดใช้สิทธิครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
             1. วิธีการคำนวณเงินได้จากการซื้อหุ้นของกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ เพื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร
             2. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้พึงประเมินของกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ ที่เกิดจากการใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ หรือไม่
             3. กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระภาษีก่อนวันสิ้นปีปฏิทิน ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้เพียงใดหรือไม่
แนววินิจฉัย:             1. กรณีตาม 1. การคำนวณจำนวนเงินได้พึงประเมินให้คำนวณจากราคาหุ้นสามัญของบริษัทฯ ตามราคาดังต่อไปนี้ หักด้วยราคาการใช้สิทธิ (Exercise Price) ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว
                (ก) หากหุ้นดังกล่าวมีราคาขายให้กับประชาชน (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป
                (ข) หากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชน (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น
             ;กรณีที่บริษัทฯ จะเสนอหุ้นให้กรรมการและพนักงานของบริษัทฯ โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว และประสงค์ที่จะทำความตกลงเกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีของบุคคลดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิที่จะยื่นคำขอต่อกรมสรรพากรเพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
             ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้น ในราคาที่ต่ำกว่าราคา ตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
             2. กรณีตาม 2. เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2544
             3. กรณีตาม 3. กรรมการและพนักงานผู้มีเงินได้ตาม 1. มีหน้าที่ยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 และมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าภาษีที่ต้องเสียมีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้เสียภาษีมีสิทธิแบ่งชำระเป็นสามงวดๆ ละเท่าๆ กันได้ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร โดยงวดที่หนึ่งต้องชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ งวดที่สอง ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่หนึ่งและงวดที่สามต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่สอง
เลขตู้:69/34321

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020