เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6204
วันที่:25 กรกฎาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการด้านการบริหารการจัดส่งสินค้าจากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย:มาตรา 76 ทวิ มาตรา 70 ตรี มาตรา 77/1(12) มาตรา 83/9 และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารการจัดส่งสินค้า หรือการรวบรวมสินค้าโดยการรับสินค้า หีบบรรจุสินค้าจากลูกค้าหลายรายแล้วจัดส่งสินค้าให้กับผู้อื่น รวมทั้งการให้บริการด้านการบริหาร การจัดเก็บ รับจ้างบรรจุหีบห่อ รวมทั้งรับขนส่งสินค้าโดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศให้กับผู้ว่าจ้าง ทั้งในและนอกราชอาณาจักร บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการจากประเทศสหรัฐอเมริกา ("บริษัท A") ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศต่างๆ รวมทั้งลูกค้าในประเทศไทย บริษัท A มีความประสงค์ที่จะตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Regional Hub) ในประเทศไทย โดยสินค้าของบริษัท A จะมาจากแหล่งผลิตในประเทศไทยและประเทศอื่น ปัจจุบันบริษัท A ไม่มีสำนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ทำการใดๆ ในประเทศไทย ในการขายสินค้าบริษัท A จะเป็นผู้เจรจาติดต่อโดยตรงกับลูกค้าในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย เอกสารใบแจ้งหนี้ (Commercial Invoice) และใบเสร็จรับเงิน (Receipt) ทั้งหมดจะออกโดยบริษัท A ให้กับลูกค้าโดยตรง รวมทั้งการชำระค่าสินค้าลูกค้าจะทำการชำระไปยังบริษัท A ส่วน บริษัทฯ จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนเหล่านี้แต่อย่างใด บริษัทฯ มีหน้าที่ให้บริการกับบริษัท A ดังต่อไปนี้ในประเทศไทย
             (1) ทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อนำสินค้าเข้าคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Trade Zone Warehouse)
             (2) ทำหน้าที่เป็นผู้รับสินค้าเข้าคลังสินค้าในเขตปลอดอากร โดยใช้ชื่อของ บริษัทฯ ทั้งหมดในการเป็นผู้รับมอบสินค้าในประเทศไทย เป็นผู้รับสินค้า (Consignee) ในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) และเป็นผู้รับสินค้าในใบ Packing List Invoice (บัญชีราคาสินค้า และบัญชีบรรจุหีบห่อ) และสำแดงเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้า (Import Entry)
             (3) ทำหน้าที่ในการบริหารการจัดวางสินค้าในคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Warehouse Operator)
             (4) ทำหน้าที่ในการจัดส่งสินค้าออกจากคลังสินค้าในเขตปลอดอากรให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งของบริษัท A รวมถึงดำเนินพิธีการศุลกากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสินค้าออกจากคลังสินค้าในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ หากเป็นลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย ลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรรวมทั้งการชำระค่าอากรขาเข้า (Import Duty) และภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมศุลกากรเอง
             (5) ทำหน้าที่ในการออก Packing List Invoice (บัญชีราคาสินค้า และบัญชีบรรจุหีบห่อ) ให้แก่ลูกค้าตามกฎระเบียบพิธีการศุลกากร ตามคำสั่งของบริษัท A โดยใช้ชื่อของ บริษัทฯ ทั้งหมดในการเป็นผู้ส่งสินค้า (Shipper Name) ในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) และในใบ Packing List Invoice (บัญชีราคาสินค้า และบัญชีบรรจุหีบห่อ) และสำแดงเป็นผู้ส่งออกในใบขนสินค้าขาออก (Export Entry) สำหรับลูกค้าของบริษัท A ที่อยู่ในต่างประเทศ
             (6) ทำหน้าที่ในการจัดส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งของบริษัท A ทั้งนี้ บริษัทฯ จะได้รับค่าบริการจากการให้บริการแก่บริษัท A โดยที่บริษัท A ยังคงความเป็นเจ้าของในสินค้า บริษัทฯ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าในเขตปลอดอากรแต่อย่างใด
             บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
             1. การให้บริการดังกล่าวแก่บริษัท A จะถือว่า บริษัทฯ มีฐานะเป็นตัวแทนที่ทำหน้าที่เก็บรักษาและส่งมอบสินค้าในนามของบริษัท A ในประเทศไทยอยู่เป็นปกติวิสัย ตามข้อ 5 วรรค 6 (ค) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้หรือไม่
             2. หากการให้บริการดังกล่าวทำให้ บริษัทฯ มีฐานะเป็นตัวแทนตาม 1. จะถือว่า บริษัทฯ มีสถานะเป็นตัวแทนอิสระตามข้อ 5 วรรค 7 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าวหรือไม่ ถ้าการให้บริการแก่บริษัท A เป็นไปในทำนองเดียวกับการให้บริการแก่บริษัทอื่นๆ คือ การบริหารการจัดส่งสินค้าซึ่งประกอบด้วยการให้บริการด้านการบริหาร จัดเก็บ รับจ้างบรรจุหีบห่อ รวมทั้งขนส่งสินค้าทางบก ทางทะเล และทางอากาศ แต่มีข้อแตกต่างกับการให้บริการรายอื่นๆ คือ บริษัทฯ จะไม่มีชื่อเป็นผู้รับสินค้า (Consignee) / ผู้นำเข้า (Importer) หรือผู้ส่งสินค้า (Shipper) / ผู้ส่งออก (Exporter) สำหรับการให้บริการรายอื่นๆ
             3. บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้จากการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามคำสั่งของบริษัท A ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
             4. การจัดส่งสินค้าของบริษัท A ในประเทศไทยให้กับลูกค้าซึ่งอยู่นอกเขตปลอดอากร ลูกค้าของบริษัท A จะเป็นผู้นำเข้าและชำระภาษีศุลกากรในนามของลูกค้า บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งสินค้าดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
             5. การจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของบริษัท A ในต่างประเทศ บริษัทฯ จะมีชื่อเป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออก ผู้ส่งสินค้า/ผู้ส่งออกนั้น บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกสินค้าดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:             1. กรณีตาม 1. และ 2. บริษัทฯ ประกอบกิจการศูนย์กระจายสินค้าอิสระให้กับบริษัท A และบริษัทอื่นๆ โดยมีรายได้จากการให้บริการรับฝากสินค้า การประกอบกิจการดังกล่าวไม่ถือว่าบริษัท A มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไร ในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทยของบริษัท A
             2. กรณีตาม 3. บริษัทฯ นำสินค้าของบริษัท A เข้ามาเก็บไว้ใน บริษัทฯ ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยกรรมสิทธิ์ของสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท A และ บริษัทฯ จะส่งออกสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท A ตามคำสั่งของบริษัท A ส่วนบริษัทฯ จะเป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของ บริษัทฯ และบริษัท A จะเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าโดยตรง เนื่องจากสินค้าที่ บริษัทฯ ส่งออกไปต่างประเทศดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท A ซึ่ง บริษัทฯ ไม่มีรายได้จากการส่งสินค้าออกไปขายดังกล่าว แต่มีรายได้จากค่าบริการการรับฝากสินค้าเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่า บริษัทฯ ส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
              3. กรณีตาม 4. การนำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่นำออกจากเขตปลอดอากรให้กับลูกค้าของบริษัท A ในประเทศไทยเข้าลักษณะเป็นการนำเข้า ตามมาตรา 77/1(12) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้าของบริษัท A เป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร จึงมีฐานะเป็นผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/9 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรดังกล่าว
             4. กรณีตาม 5. บริษัทฯ นำสินค้าออกจากคลังสินค้าในเขตปลอดอากรโดยส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้กับลูกค้าของบริษัท A ในต่างประเทศในนามของ บริษัทฯ ถือว่า บริษัทฯ เป็น ผู้ส่งออกซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34379

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020