เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5863
วันที่:12 กรกฎาคม 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าเข้าเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(12) มาตรา 77/2 มาตรา 81(2)(ข) มาตรา 83/9 และแห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ประกอบกิจการซื้อมาขายไปผลิตภัณฑ์โลหะบัดกรี เครื่องจักรสำหรับบัดกรีและชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ มีความประสงค์จะนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ประกอบกิจการประเภท โรงพักสินค้า ตัวแทนออกของ และขนส่งทางบก เป็นตัวแทนดำเนินการนำเข้าสินค้าดังกล่าวและนำไปเก็บไว้ในเขตปลอดอากรซึ่งเป็นคลังสินค้าของบริษัท น. โดยยังไม่ได้ชำระอากรขาเข้า เมื่อบริษัทฯ ต้องการใช้สินค้า จะนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรเพื่อเก็บสำรองไว้ที่บริษัทฯ และขายให้ลูกค้าในประเทศ บริษัท น. จะเป็นตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรและชำระภาษีนำเข้าตามจำนวนสินค้าในนามของบริษัทฯ จึงขอทราบว่า การนำเข้าสินค้าตามข้อเท็จจริง มีภาระต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:             กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการในประเทศสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยบริษัท น. ซึ่งเป็นตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรและนำสินค้าเข้าไปเก็บในโรงพักสินค้าของบริษัท น. ในเขตปลอดอากรหากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ได้ยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น การนำเข้าสินค้าดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ ต้องการนำสินค้าดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากร โดยบริษัท น. เป็นตัวแทนในการดำเนินพิธีการศุลกากรในนามของบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะบริษัทฯ นำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก กรณีดังกล่าวถือเป็นการนำเข้าตามมาตรา 77/1(12) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ โดยบริษัท น. ตัวแทนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นใบขนสินค้าในนามของบริษัทฯ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/9 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ ขายสินค้าให้ลูกค้าภายในประเทศ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34353

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020