เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.08)/853 |
วันที่ | :19 กรกฎาคม 2549 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของกรรมการและที่ปรึกษา |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 40(2) มาตรา 50(1) มาตรา 52 มาตรา 60 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538ฯ |
ข้อหารือ | : 1. บริษัท บ. ได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่กรรมการบริหารของบริษัทฯ โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่มีกำหนดเวลาการสิ้นสุดของใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ 2. นาย ช. ในฐานะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ได้รับเงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำจากการเป็นกรรมการดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าวตามแบบ ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก และได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิจากบริษัทฯ ต่อมานาย ช. ได้นำใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวไปแปลงเป็นหุ้นสามัญ โดยนาย ช. ได้จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นตามราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิซึ่งในขณะนั้นต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทฯ ได้นำผลต่างของราคาดังกล่าว จำนวนเงิน 1,277,482.88 บาท มาคำนวณเป็นเงินได้ของนาย ช. ซึ่งบริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายประจำเดือนภาษีมีนาคม 2548 และนำส่งกรมสรรพากรตามแบบ ภ.ง.ด. 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 เป็นจำนวนเงิน 196,244.86 บาท ซึ่งนาย ช. ได้นำเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 196,244.86 บาท มาถือเป็นเครดิตในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อขอคืนภาษี แต่มิได้นำเงินได้จำนวน 1,277,482.88 บาท มารวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย 3. นาย ช. ไม่ได้เป็นพนักงานหรือผู้บริหารซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างใด ๆ จากบริษัทฯ และสำหรับการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ นาย ช. ได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นแปลงเป็นหุ้นโดยจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นตามราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิซึ่งขณะนั้นต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทฯ ถือว่า ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อตามใบสำคัญแสดงสิทธิกับราคาตลาดเป็นกำไรจึงได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ซึ่งที่จริง ผู้มีสิทธิจะมีกำไรหรือไม่ต่อเมื่อได้ขายหุ้นสามัญแล้ว ฉะนั้น เมื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีกำไร จึงถือเป็นกำไรอีกครั้งหนึ่ง นาย ช. มีหน้าที่ต้องนำเงินได้จำนวน 1,277,482.88 บาท มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2548 หรือไม่ อย่างไร และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่นาย ช. ซึ่งเป็นกรรมการบริหารของบริษัทฯ โดยใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ และไม่มีการจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปเช่นเดียวกับใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป ถือว่า นาย ช. ยังมิได้รับเงินได้พึงประเมินในวันที่ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ 2. กรณีนาย ช. ได้นำใบสำคัญแสดงสิทธิที่ได้รับจากบริษัทฯ ดังกล่าวมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ นาย ช. มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้  2.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากนาย ช. เป็นกรรมการบริหารของบริษัทฯ เงินได้ที่นาย ช. ได้รับจากบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนาย ช. ได้นำใบสำคัญแสดงสิทธิมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ถือว่านาย ช. ได้รับประโยชน์ใด ๆ ที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ช. จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่มีการใช้สิทธิดังกล่าว  2.2 กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่นาย ช. บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ในการคำนวณยอดเงินได้พึงประเมินของผู้ต้องเสียภาษี ให้ถือว่า เงินที่ได้หักและนำส่งตามความในมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้พึงประเมินที่นาย ช. ได้รับ ส่วนจำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งไว้นั้น ให้ถือเป็นเครดิตของนาย ช. ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34377 |