เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5661
วันที่:4 กรกฎาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย:มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              นาย ก. ได้กู้ยืมเงินร่วมกับพี่ชายเพื่อซื้อบ้าน 1 หลัง กู้ยืมเงินคนเดียวเพื่อซื้อคอนโดมิเนียม 1 ห้อง จึงขอทราบว่า นาย ก. มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:             กรณีนาย ก. ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจำนวน 2 แห่ง ดังนี้
            1. บ้านหลังที่ 1 นาย ก. ได้กู้ยืมเงินร่วมกับพี่ชาย โดยใช้สิทธิการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และยกเว้นเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของบ้านหลังที่ 1 ก่อน ดังนั้น กรณีบ้านหลังที่ 1 ถือเป็นกรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืมเงิน จึงได้รับสิทธิหักลดหย่อนได้ทุกคน โดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และได้รับยกเว้นเงินได้ ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อเช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
            2. บ้านหลังที่ 2 (คอนโดมีเนียม) นาย ก. ได้กู้ยืมเงินเพียงคนเดียว โดยได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ของบ้านหลังที่ 1 ก่อน นาย ก. มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมบ้านหลังที่ 2 (คอนโดมิเนียม) มาหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้เช่นเดียวกับบ้านหลังที่ 1 เพียงแต่ไม่ต้องเฉลี่ยการได้รับยกเว้นตามส่วนจำนวนของผู้มีเงินได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
            3. กรณีนาย ก. ได้ใช้สิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมบ้านหลังที่ 1 รวมกับหลังที่ 2 (คอนโดมีเนียม)ไปหักลดหย่อนและยกเว้นเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 50,000 บาท หรือได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบ้านหลังใดหลังหนึ่งครบ 50,000 บาทในปีภาษีแล้ว นาย ก. ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ได้อีก ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เลขตู้:69/34335

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020