เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5934
วันที่:14 กรกฎาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย:มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) และข้อ 3 ของประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543
ข้อหารือ:              นาง ช. ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย บ. โดยก่อนการสมรสกับนาง ช. นาย บ. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินกับ บริษัท ล. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2535 และนำบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคาร ส. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ต่อมาในปี 2539 นาย บ. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคาร ค. โดยนำบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองและผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกับธนาคาร ค. อีก ในปี 2542 นาย บ. ไม่ได้ทำงาน นาง ช. จึงผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากธนาคารอาคาร ค. แทนนาย บ. เนื่องจากความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอลดหย่อน นาง ช. จึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกับสามีและนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมารวมคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษี ต่อมาในปี 2548 นาง ช. และนาย บ. ได้จดทะเบียนหย่าซึ่งตามบันทึกแนบท้ายทะเบียนหย่า นาย บ. ได้ยกบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนาย บ. ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นาง ช. แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคาร ค. เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงสัญญา ปัจจุบันนาง ช. ได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในนามของนาย บ. ตลอดมา จึงขอทราบว่า นาง ช. มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ หรือไม่
แนววินิจฉัย:            กรณีนาง ช. ได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินแก่ธนาคาร ค. ตลอดมา แต่ตามใบเสร็จรับเงินและหลักฐานจากธนาคาร ค. ที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินซึ่งจะใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมยังคงเป็นชื่อของนาย บ. เป็นผู้กู้และชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ใช่ชื่อของนาง ช. กรณีดังกล่าวนาง ช. ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) และ ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามข้อ 2(53) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(1) และข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เลขตู้:69/34362

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020