เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6275
วันที่:26 กรกฎาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป
ข้อกฎหมาย:มาตรา 76 ทวิ มาตรา 77/1(8) มาตรา 78(1) มาตรา 77/1(11) มาตรา 78/2(1) มาตรา 82/14 มาตรา 81/1(1) มาตรา 77/1(21) มาตรา 77/1(14)(ก) มาตรา 77/1(7) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัท C จำกัด เป็นผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ให้บริการรับฝากสินค้า รวมถึงการให้บริการขนถ่ายสินค้า การแบ่งและบรรจุหีบห่อรวมทั้งให้บริการอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร บริษัทฯ มีรายได้ค่าบริการรับฝากสินค้า โดยเรียกเก็บจากลูกค้าตามระยะเวลาที่นำวัตถุดิบหรือสินค้าเข้ามาฝากและบริการอื่นๆ ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ ประกอบด้วย ผู้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ผู้นำเข้าเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
             1. ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นผู้ทำการติดต่อและมีคำสั่งให้ผู้ขายต่างประเทศซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าเข้ามาเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อรอการส่งมอบ เอกสารที่เป็น Commercial Invoice ทั้งหมดระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า เช่น ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (Air Way Bill) ใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of Lading) ใบขนสินค้าเพื่อนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บน ใบกำกับสินค้า (ไม่ระบุรายละเอียดและเงื่อนไขการจ่ายเงิน แต่แสดงมูลค่าของวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อใช้สำหรับการดำเนินพิธีการศุลกากรเท่านั้น) การนำวัตถุดิบหรือสินค้าเข้าจัดเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน จะไม่มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมศุลกากรแต่อย่างใด
             2. ต่อมาเมื่อลูกค้าต้องการวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อใช้ในการผลิต จะดำเนินการสั่งซื้อกับผู้ขายในต่างประเทศ โดยลูกค้าจะจัดทำเอกสาร Purchase order ไปยังผู้ขายในต่างประเทศและผู้ขายในต่างประเทศจะออกใบกำกับสินค้าเพื่อขายวัตถุดิบหรือสินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งใบกำกับสินค้าจะระบุชื่อลูกค้า ประเภท จำนวน ราคาและเงื่อนไขการชำระเงิน ขณะเดียวกันผู้ขายในต่างประเทศจะทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการปล่อยวัตถุดิบหรือสินค้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุดิบหรือสินค้าที่เก็บรักษาในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้กับลูกค้าตามแบบฟอร์มที่กรมศุลกากรกำหนด หลังจากนั้นลูกค้าจะนำใบกำกับสินค้าและแบบฟอร์มการโอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุดิบหรือสินค้าไปดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่กรณีลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สินค้านำเข้าบางประเภทไม่มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากผู้ซื้อได้วางประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษี หรือเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
             3. การชำระค่าวัตถุดิบหรือสินค้าให้กับผู้ขายในต่างประเทศ ลูกค้าจะเป็นผู้ชำระค่าวัตถุดิบหรือสินค้าเองโดยตรง บริษัทฯ จะได้รับเพียงค่าบริการรับฝากสินค้า ซึ่งค่าบริการดังกล่าวบริษัทฯ จะเรียกเก็บจากลูกค้าหรือผู้ขายในต่างประเทศตามเงื่อนไขที่ตกลง
             4. การจัดเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บน มีกำหนดให้จัดเก็บได้ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่นำเข้า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ สามารถขอต่ออายุการจัดเก็บตามหลักเกณฑ์ของกรมศุลกากรได้เป็นคราวๆ ไป หากไม่ได้รับการต่ออายุ วัตถุดิบหรือสินค้าที่เหลือทั้งหมดจะต้องดำเนินการส่งออกกลับไปยังผู้ขายในต่างประเทศต่อไป
             5. จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอทราบว่า
             5.1 กรณีที่ลูกค้าติดต่อผู้ขายในต่างประเทศเพื่อให้ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าเข้ามาจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ โดยเอกสารการนำเข้าทั้งหมดเป็นชื่อของบริษัทฯ และเมื่อบริษัทฯ โอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุดิบหรือสินค้าให้ลูกค้า เพื่อไปดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้านั้น บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.2 ภายในระยะเวลา 2 ปี หากวัตถุดิบหรือสินค้าบางส่วนที่เหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตได้อีก ลูกค้าหรือผู้ขายในต่างประเทศจะมีคำสั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการดังต่อไปนี้
                   5.2.1 ส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าวคืนไปยังผู้ขายในต่างประเทศ โดยไม่มีการชำระเงินค่าวัตถุดิบหรือสินค้า
                   5.2.2 ส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าไปยังผู้ซื้อรายอื่นในประเทศอื่น
                   5.2.3 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นในประเทศไทย     กรณีที่มีการชำระราคาค่าวัตถุดิบหรือสินค้า ผู้รับโอนวัตถุดิบหรือสินค้าจะชำระราคาค่าวัตถุดิบหรือสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.3 เมื่อครบกำหนด 2 ปี วัตถุดิบหรือสินค้าที่จัดเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนบริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหลักเกณฑ์ของกรมศุลกากร ดังต่อไปนี้
                   5.3.1 ส่งออกสินค้ากลับคืนไปยังผู้ขายในต่างประเทศในนามบริษัทฯ โดยไม่มีการชำระเงินค่าวัตถุดิบหรือสินค้าจากลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับสินค้าในนามบริษัทฯ เพื่อใช้ดำเนินพิธีการศุลกากร
                   5.3.2 กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถส่งออกสินค้าให้กับผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งอาจเกิดจากผู้ขายในต่างประเทศปฏิเสธการรับคืน เนื่องจากมูลค่าของวัตถุดิบหรือสินค้าไม่คุ้มกับค่าขนส่ง หรือติดต่อผู้ขายในต่างประเทศไม่ได้ บริษัทฯ ต้องเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าที่เหลืออยู่ทั้งหมดเอง โดยชำระภาษีนำเข้าและภาษีอื่นๆ
             กรณีการดำเนินการตาม 5.3 บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.4 กรณีผู้ซื้อในต่างประเทศสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตในประเทศไทย โดยสั่งให้ส่งสินค้าไปฝากเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ หากต่อมาผู้ซื้อในต่างประเทศขายสินค้าดังกล่าวให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศในประเทศอื่นและขายสินค้าให้กับผู้ซื้อในประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.5 กรณีลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศไทยผลิตสินค้าและนำสินค้าเข้ามาฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ หากต่อมาลูกค้าขายสินค้าให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ และขายสินค้าบางส่วนให้กับผู้ซื้อในประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.6 กรณีความหมายของคำว่า "เขตปลอดอากร" ตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร หมายความรวมถึงคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปด้วยหรือไม่ และกรณีนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
             5.7 กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดำเนินการส่งสินค้าและเก็บสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ หากผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าว ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อในประเทศไทยโดยมีบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการแทนในนามของผู้ประกอบการในต่างประเทศ ในการเก็บรักษาและส่งมอบสินค้าในประเทศไทย บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.8 กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดำเนินการส่งสินค้าและเก็บสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ หากต่อมาผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าว ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรภายใต้การขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการในต่างประเทศ (ผู้ขาย) และผู้ประกอบการในต่างประเทศ (รายอื่น) ผู้ประกอบการในต่างประเทศ (ผู้ขาย) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยอย่างไรบ้างและบริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
             5.9 กรณีลูกค้าของบริษัทฯ เป็นสายการบินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ มีคำสั่งให้บริษัทฯ นำเข้าอะไหล่จากผู้ขายในต่างประเทศเข้ามาจัดเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการรอซ่อม เมื่อสายการบินต้องการใช้อะไหล่ดังกล่าว บริษัทฯ จะโอนอะไหล่ดังกล่าวให้กับสายการบิน เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรในการนำเข้า อะไหล่ที่เหลืออยู่อาจจะมีการส่งออกคืนไปยังผู้ขายในต่างประเทศหรือส่งออกไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศรายอื่นต่อไป โดยการส่งออกทั้งหมดกระทำในนามของบริษัทฯ บริษัทฯ จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย:            กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกพิจารณาได้ ดังนี้
            1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าเข้ามาจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเป็นผู้ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าวให้กับลูกค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศหรือส่งคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แล้วแต่กรณีตาม 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.7 และ 5.8 หากบริษัทฯ เป็นเพียงผู้ให้บริการเก็บรักษาวัตถุดิบหรือสินค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและส่งมอบวัตถุดิบหรือสินค้าให้ลูกค้าในประเทศไทยแทนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศเท่านั้น โดยมิได้มีการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุก่อให้เกิดรายได้ในประเทศไทยให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว เช่น มิได้มีการติดต่อซื้อขายหรือแนะนำสินค้าหรือจัดหาคำสั่งซื้อในประเทศไทย เป็นต้น กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ สำหรับรายได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับจากการขายวัตถุดิบหรือสินค้าทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการให้บริการแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
             2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าเข้ามาจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเป็นผู้ส่งวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าวให้ลูกค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศหรือส่งคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แล้วแต่กรณีตาม 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.7 และ 5.8 การดำเนินการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตามมาตรา 77/1(7) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามมาตรา 82/1(1) และมาตรา 85/2 แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประสงค์จะให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีในนามของตนเอง ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ในฐานะตัวแทนมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
             2.1 กรณีบริษัทฯ ในฐานะตัวแทนโอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุดิบหรือสินค้าให้ลูกค้าซึ่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อไปดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าเข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าว โดยหากได้รับอนุมัติให้ออกใบกำกับภาษีแทนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว บริษัทฯ ในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับโอนเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อลูกค้าไปดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการนำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้าดังกล่าวจึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/2(1) และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
             2.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีคำสั่งให้บริษัทฯ ส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าวคืนไปยังบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว หรือส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าไปยังผู้ซื้อรายอื่นในประเทศอื่นโดยผ่านพิธีการศุลกากร บริษัทฯ ในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าดังกล่าว โดยได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับจากการให้บริการแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
             3. กรณีตาม 5.6 ความหมายของคำว่า "เขตปลอดอากร" ตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า เขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเขตที่มีกฎหมายกำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งจากนิยามเขตปลอดอากรดังกล่าวไม่ได้มีความหมายรวมถึงคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปแต่อย่างใด และกรณีการนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน ไม่เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
             4. กรณีตาม 5.9 ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นสายการบินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ มีคำสั่งให้บริษัทฯ นำเข้าอะไหล่จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เข้ามาจัดเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนของบริษัทฯ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการรอซ่อม เมื่อสายการบินต้องการใช้อะไหล่ดังกล่าว บริษัทฯ จะโอนอะไหล่ดังกล่าวให้กับสายการบิน เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรในการนำเข้า บริษัทฯ จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกพิจารณาได้ ดังนี้
             4.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ให้บริการรับฝากสินค้า ถือเป็นรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการรับฝากสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
             4.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34386

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020