เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 261 (พ.ศ. 2549)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

  ---------------------------

 

                           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                          ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186  (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 221 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

                                  “ข้อ 2  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้”

 

                          ข้อ  2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6 ฉ และข้อ 6 สัตต แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

                                   “ข้อ 6 ฉ การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

                                            “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                                              (1)  ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                                              (2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

                                              (3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                                              (4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                                            “ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัย” หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล ที่ได้ลงทะเบียนกับศูนย์หรือหน่วยงานช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยของทางราชการ และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้นั้นด้วย

 

                                    ข้อ 6  สัตต การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งดำเนินการโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4  ข้อ 5 หรือข้อ 6 

                                           “เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยและได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน

                                           “ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัย” หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล ที่ได้ลงทะเบียนกับศูนย์หรือหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยของทางราชการ และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้นั้นด้วย

                                          “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                                             (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                                             (2) ธนาคารออมสินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน

                                             (3) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย

                                             (4) บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

                                             (5) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 

                                             (6) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                                             (7) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

                                             (8) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”

 

                          ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 221 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

                                     “ข้อ 7 หนี้ของลูกหนี้รายใดที่ได้ดำเนินการหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตามข้อ 5(2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ หรือคำขอรับชำระหนี้ และกรณีตามข้อ 6 ตรี ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แล้วแต่กรณี”

 

  ให้ไว้ ณ วันที่ 3 สิงหาคม  พ.ศ. 2549

 

ทนง  พิทยะ

(นายทนง  พิทยะ) 

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากเกิดธรณีพิบัติภัยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล อันส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน ทำให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัย สมควรกำหนดให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นสามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ดังกล่าว สำหรับการปลดหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยการปลดหนี้นั้นเป็นผลจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123  ตอนที่ 81 ก  วันที่ 11 สิงหาคม  2549)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022