เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 165)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

________________

 

                         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้

 

                         ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3) ของวรรคหนึ่ง ของข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 139) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545

 

                                  “(3) กรณีผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่น ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”

 

                         ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม  พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 74) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                   “ ข้อ  5 ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน  3 ฉบับ โดยแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมกับแนบเอกสารดังต่อไปนี้

                                            (1) กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา สำหรับผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้แนบภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว                  

                                            (2) กรณีผู้ประกอบการเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกรณีผู้ร่วมจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นคนต่างด้าว ให้แนบภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

                                            (3) กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ให้แนบเอกสารดังนี้

                                                (ก) กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร และตัวแทนได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรดังกล่าว ให้แนบหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นชอบ 

                                               (ข) กรณีกิจการร่วมค้า ให้แนบภาพถ่ายเอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า

                                               (ค) กรณีนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ให้แนบภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และภาพถ่ายสัญญาหรือโครงการที่แสดงถึงคู่สัญญา มูลค่าของสัญญา ระยะเวลาของสัญญาหรือโครงการที่เริ่มต้นและสิ้นสุด

                                               (ง) กรณีองค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายหลักฐานที่แสดงฐานะนิติบุคคล

                                          (4) การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (3)  กรณีมีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ให้แนบหนังสือมอบอำนาจ ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของผู้มอบอำนาจ คือ ผู้ประกอบการตาม (1) และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตาม (2) (3) และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

                                          (5) กรณีผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (3) ใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้แนบเอกสารและดำเนินการดังต่อไปนี้

                                              (ก) กรณีใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็น สถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว   

                                              (ข) กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้แนบภาพถ่ายสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แนบภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ

                                             (ค) ให้แนบแผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขปพร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ

                                            การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับแนบเอกสารตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการต้องแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรด้วย” 

 

                            ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 139) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

                                    “ข้อ 9  ผู้มีอำนาจออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

                                            (1) สรรพากรพื้นที่ สำหรับสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น

                                            (2) ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”

 

                            ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้  เป็นต้นไป    

 

ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม  พ.ศ. 2549

 

ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

(นายศิโรตม์   สวัสดิ์พาณิชย์)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022