เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6090
วันที่: 19 กรกฎาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย:พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433)
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับสถาบันการเงินที่ศาล โดยบริษัทฯ ตกลงผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ตามอัตราที่กำหนด สถาบันการเงินตกลงยกหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายของยอดเงินกู้ที่ต้องชำระ ในปี 2552 ถึงปี 2554 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
             1. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือไม่
             2. เงินได้ที่สถาบันการเงินปลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ ในปี 2552 ถึงปี 2554 เป็นเงินได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรหรือไม่
             3. ในกรณีสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า สถาบันการเงินจะยกหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้แก่บริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว บริษัทฯ ต้องนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายที่สถาบันการเงินยกหนี้ให้มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในการยกเว้นภาษีเงินได้ หากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจะต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง
             4. การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บบส.) เมื่อปี 2545 ซึ่งระบุว่า เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญา บบส. ตกลงให้หนี้ส่วนที่เหลือเป็นอันระงับสิ้นไป บริษัทฯ ได้ชำระหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและหลักทรัพย์ชำระหนี้ รวมทั้งผ่อนชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในปี 2545 บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรหรือไม่ และต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับสถาบันการเงิน และศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดและศาลมีคำพิพากษาตามที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548
            2. กรณีตาม 2. เงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 แต่เงินได้ที่สถาบันการเงินปลดหนี้ให้บริษัทฯ ในปี 2552 ถึงปี 2554 ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ.2548
             3. กรณีตาม 3. หากสถาบันการเงินยกหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้แก่บริษัทฯ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2549 บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ.2548
             4. กรณีตาม 4. การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 โดยบริษัทฯ ต้องแสดงหลักฐานสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในการขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวด้วย
เลขตู้:69/34371

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020