เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/843
วันที่: 7 กรกฎาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการกำหนดราคาขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (3)(4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัท A (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขายหุ้นในบริษัท B (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับบริษัท C ในประเทศญี่ปุ่น ข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
            1. บริษัทฯ ได้ลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัท B โฟรเซ่นฟูดส์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40.97 ราคามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ (Par Value) หุ้นละ 100 บาท จำนวน 430,200 หุ้น รวมเป็นเงินจำนวน 43,020,000 บาท
            2. เดือนเมษายน 2546 บริษัทฯ ได้ขายหุ้นในบริษัท B ให้กับบริษัท C ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 388,600 หุ้น ราคาหุ้นละ 432.98 บาท รวมเป็นเงิน 168,256,028 บาท โดยหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งบริษัทฯ มีกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 129,396,028 บาท (388,600 หุ้น X 432.98 - 100) บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน 2546 - มีนาคม 2547 โดยบริษัทฯ ได้นำเงินกำไรสุทธิจากการขายหุ้น จำนวน 129,396,028 บาท มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
            3. บริษัทฯ กับบริษัท B มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน - 31 มีนาคม ของทุกปี โดยในรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน 2545 - 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนที่บริษัทฯ จะขายหุ้นในบริษัท B ให้กับบริษัท C ในประเทศญี่ปุ่น งบการเงินของบริษัท B ในส่วนของที่ดินและอาคารได้แสดงไว้ในราคาทุน มิได้มีการประเมินโดยผู้ประเมินราคาอิสระให้เป็นราคาตลาดแต่อย่างใด โดยที่ดินและอาคารดังกล่าวใช้เป็นโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการเปรียบเทียบราคาซื้อขายที่ดินและอาคารในบริเวณใกล้เคียงในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อหาราคาตลาดของที่ดินและอาคารของบริษัท B เป็นเรื่องยาก เนื่องจากที่ดินและอาคารของบริษัทต่างๆ ในนิคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานประกอบการในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น กรณีบริษัทฯ ขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไปในขณะที่ขายและได้ขายให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันในต่างประเทศนั้น การกำหนดราคาหุ้นที่ขายควรพิจารณาอย่างไร
แนววินิจฉัย:            1. กรณีบริษัทฯ ได้ขายหุ้นในบริษัท B ซึ่งเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ให้กับ บริษัท C ในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป หากบริษัทฯ กำหนดราคาหุ้นที่ขายโดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่คำนวณโดยนำทรัพย์สินที่มีอยู่ตามงบดุลในปีที่ผ่านมาของบริษัทฯ ซึ่งผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหักด้วยหนี้สินทั้งหมดแล้วหารด้วยหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ ราคาหุ้นดังกล่าวถือเป็นราคาที่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีเจ้าพนักงานประเมินจะประเมินราคาหุ้นดังกล่าว โดยนำทรัพย์สินในส่วนของที่ดินและอาคารซึ่งบริษัทฯ ได้บันทึกไว้ในราคาทุนมาประเมินราคาให้สูงขึ้นตามราคาที่ดินและอาคารในราคาปัจจุบัน เพื่อให้การคำนวณหาราคาหุ้นของบริษัทฯ มีมูลค่าสูงขึ้นนั้น เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องถือราคาที่ดินและอาคารตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 65 ทวิ(3) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ บริษัทฯ มิได้ขายที่ดินหรืออาคารอันจะเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนดังกล่าวตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้:69/34350

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020