เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6084 |
วันที่ | : 19 กรกฎาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418)ฯ |
ข้อหารือ | : ธนาคาร ท. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัท ส. จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. (ลูกหนี้) ในเงินต้นและดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 522,222,560.90 บาท โดยมีบริษัท อ. จำกัด ทำสัญญาผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน โดยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาว่า ลูกหนี้ต้องโอนทรัพย์สินชำระหนี้ให้กับธนาคารฯ คิดเป็นเงินจำนวน 40,210,000 บาท ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือตกลงให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวดและให้ผู้ค้ำประกันจัดหารถยนต์มาให้ธนาคารฯ เช่าโดยนำเงินค่าเช่ารถยนต์พร้อมทั้งรายได้จากการขายซากรถยนต์ไปจัดสรรชำระหนี้ให้แก่ธนาคารฯ แทนลูกหนี้ จนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้เสร็จสิ้น บริษัทฯ ผู้ค้ำประกัน จึงขอทราบว่า รายได้จากการให้บริการเช่ารถยนต์เพื่อนำไปจัดสรรชำระหนี้ให้แก่ธนาคารฯ ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้บริษัทฯ ผู้ค้ำประกันจะได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2547 หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : บริษัทฯ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างธนาคารฯ กับบริษัท ส. และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. บริษัทฯ ผู้ค้ำประกัน จึงเป็นลูกหนี้ของธนาคารฯ ด้วย โดยในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระบุว่า บริษัทฯ ผู้ค้ำประกันต้องจัดหารถยนต์มาให้ธนาคารฯเช่า และนำเงินค่าเช่าไปชำระหนี้ให้กับธนาคารฯ รายได้จากค่าเช่าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการให้บริการอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หากการให้บริการดังกล่าวได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2547 บริษัทฯ ผู้ค้ำประกันจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2547 |
เลขตู้ | :69/34367 |