เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5933
วันที่: 14 กรกฎาคม 2549
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(1) และมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             ได้หารือเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ สรุปความว่า เนื่องด้วยมาตรา 91/2(7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 0.1 จากฐานรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 91/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยปัจจุบันธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ฉะนั้น หากธนาคารฯ ได้ขายหลักทรัพย์ดังกล่าว ไม่ว่าหลักทรัพย์นั้นจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือพันธบัตรก็ตามผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารฯ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามนัยข้างต้น และเนื่องจากประมวลรัษฎากรจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น (ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534) ดังนั้น ในกรณีที่ธนาคารฯ ขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวจะมีสภาพเป็นตราสารทุน เช่น หุ้น หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ เช่น หุ้นกู้ หรือพันธบัตรก็ตาม ธนาคารฯ จึงขอหารือว่า ธนาคารฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:            กรณีธนาคารพาณิชย์กระทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ เป็นการใช้ประโยชน์ในเงินฝากโดยการซื้อขายตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด เข้าลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ดังนั้น การที่ธนาคารฯ ขายหลักทรัพย์ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าหลักทรัพย์นั้นจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือพันธบัตร การกระทำธุรกรรมดังกล่าวของธนาคารฯ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(1) และ 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34361

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020