เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ไว้ดังต่อไปนี้

 

                “ข้อ 1  การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้

                            (1) กำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ หมายถึง กำไรเท่าที่พึงถือว่าเป็นของกิจการวิเทศธนกิจเท่านั้น

                            (2) ภายใต้บังคับข้อ 2 การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

                            (3) ในกรณีธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 และกิจการที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราปกติร้อยละ 30 ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน และห้ามมิให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีของกิจการหนึ่งไปหักออกจากกำไรสุทธิของอีกกิจการหนึ่ง

 

                ข้อ 2  รายได้และรายจ่ายที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ

                          (1) รายได้ที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจนั้น หมายถึง รายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

                          (2) ในกรณีกิจการวิเทศธนกิจจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้กิจการวิเทศธนกิจนำดอกเบี้ยดังกล่าวมาถือหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

                                (ก) ในกรณีกิจการวิเทศธนากิจของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ถ้าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศ ถ้าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศ จะต้องมีการหักและนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าเป็นการจ่ายให้กับสาขาอื่นในประเทศไทย สาขาผู้รับดอกเบี้ยจะต้องบันทึกดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายได้ด้วย

                                (ข) ในกรณีกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งเป็นผู้รับดอกเบี้ยจะต้องบันทึกดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายได้ด้วย

                                (ค) การจ่ายดอกเบี้ยตามข้อนี้จะต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชี ซึ่งแสดงรายการเงินต้นที่ก่อให้เกิดการจ่ายดอกเบี้ยและจำนวนดอกเบี้ยที่จ่าย และอัตราดอกเบี้ยที่คิดระหว่างกันจะต้องเป็นอัตราที่เหมาะสม

                          (3) ในกรณีธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 และกิจการที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราปกติร้อยละ 30 หากรายได้หรือรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่า ส่วนใดเป็นรายได้หรือรายจ่ายของกิจการใด ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                                (ก) ในด้านรายได้ ให้เฉลี่ยรายได้นั้นตามส่วนของรายได้ที่แยกได้ ระหว่างกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และกิจการที่ไม่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้

                                (ข) ในด้านรายจ่าย ให้เฉลี่ยรายจ่ายนั้นตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ

                                (ค) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวเห็นว่า การคำนวณรายได้หรือรายจ่ายโดยวิธีอื่นจะถูกต้องตามความเป็นจริงมากกว่า หรือมีความเหมาะสมมากกว่าการคำนวณตามหลักเกณฑ์ข้อ (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ธนาคารพาณิชย์อาจขออนุมัติเพื่อนำหลักเกณฑ์อื่นนั้นมาใช้แทนได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเหตุผลของการขอเปลี่ยนแปลงยื่นต่ออธิบดี และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 50) ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป)

 

                “ข้อ 3  การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและบัญชีกำไรขาดทุน ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่นั้น และยื่นรายการ ภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา หกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่นั้น

                ในกรณีธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 และกิจการที่ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราปกติร้อยละ 30 ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แยกบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนออกเป็นคนละชุดเสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคล”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 117) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

 

                ข้อ 4  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022