เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้


                ข้อ 1  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้

                          (ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

                          “(ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนดังนี้

                                1) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                                2) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

                                3) เงินที่จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหน่วยลงทุนที่ได้จากการโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 287) ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2559 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)

                          (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

                          (ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก)

 

                ข้อ 2  เงินได้พึงประเมินตามข้อ 1 ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้

                          (ก) เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

                          “การนับระยะเวลาการทำงานตามวรรคหนึ่ง กรณีผู้มีเงินได้ได้เคยออกจากงานมาแล้ว ซึ่งมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างคนหนึ่งและเข้าทำงานกับนายจ้างอีกคนหนึ่งไม่เกินหนึ่งปี โดยได้โอนเงินและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรือเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมซึ่งมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานและเข้าทำงานใหม่ไม่เกินหนึ่งปี และเมื่อออกจากงานนั้น ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นับระยะเวลาการทำงานในระหว่างที่ทำงานกับนายจ้างแต่ละคนเป็นระยะเวลาทำงานตามวรรคหนึ่งด้วย

 

                          การนับระยะเวลาการทำงานตามวรรคสอง กรณีผู้มีเงินได้เคยใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานจากนายจ้างคนใดแล้ว หรือผู้มีเงินได้เมื่อออกจากงานจากนายจ้างคนใดแล้วมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างนั้นและเข้าทำงานใหม่เกินหนึ่งปี ให้นับระยะเวลาการทำงานเฉพาะที่ได้ทำกับนายจ้างหลังจากนั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 252) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป)

 

                          “(ข) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 ไม่ว่าจะจ่ายหรือแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่ได้จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 303) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป )

                          “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 ให้แก่ข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป)

                          (ค) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในกรณีนี้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

                “ข้อ 3  การเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ตามข้อ 1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

                            (1) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน

                            (2) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานนอกจากกรณีตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ประเภทเดียวหรือหลายประเภทก็ตาม โดยจ่ายให้พร้อมกัน หรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน หากเงินได้พึงประเมินนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ทั้งจำนวน

                                  ในกรณีเงินได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่ กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน

                                  “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามโครงการดังกล่าว โดยให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2542 เป็นต้นไป)

                            (3) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และยังได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานประเภทอื่น ๆ ตาม (ง) อีก โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกันให้นำเงินได้พึงประเมินนั้นมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินได้ตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และหรือ (ง) โดยหากเงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุอกจากงานตาม (ง) มีจำนวนเกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานก็ให้นำเงินได้ตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้เพียงจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน

                                  ในกรณีเงินได้ตาม (ง) มีจำนวนไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน ให้นำเงินได้พึงประเมินตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน

                                  “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ โดยได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ (1)ก และยังได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามดครงการดังกล่าวอีก โดยให้นำเงินได้พึงประเมินตังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2542 เป็นต้นไป)

                            (4) เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานตาม (2) และ (3) หมายความถึง จำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ซึ่งเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายนี้ จะต้องไม่เกินเงินเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 73) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2540 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 4  การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 และข้อ 3

 

                ข้อ 5  ในกรณีเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น โดยให้คำนวณและชำระภาษีถ้ามีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                           ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่ได้รับจากนายจ้างต่างรายกัน ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น โดยนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวรวมกันแล้วให้คำนวณและชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สำหรับจำนวนปีที่ทำงาน ให้ถือจำนวนปีที่ทำงานกับนายจ้างในรายที่มีจำนวนปีที่ทำงานมากที่สุด

 

                ข้อ 6  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ. 2535 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

 

โกวิทย์ โปษยานนท์

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022