เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 154)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ

-----------------------------------  

         

                          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

 

                        ข้อ 1  ในประกาศนี้

                                 “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                                 “การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ” หมายความว่า

                                    (1) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากต่างประเทศจากบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศในต่างประเทศ

                                        (ก) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ

                                        (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

                                        (ค) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย

                                        (ง) สาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์

                                        (จ) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                    (2) การรับฝากหรือการกู้ยืมเงินบาทจากธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปให้กู้ยืมเป็นเงินบาทแก่ธนาคารต่างประเทศในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์

                                         “รายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้” หมายความว่า รายได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549

                                        “รายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ” หมายความว่า รายได้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ตามประมวลรัษฎากร และรายได้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่รายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549

 

                        ข้อ 2 การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้

                               (1) การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของธนาคารพาณิชย์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

                              (2) กรณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของรายได้แต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน

 

                        ข้อ 3 รายได้และรายจ่ายที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ

                                รายได้ที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง รายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

                               กรณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่า เป็นรายจ่ายของกิจการใดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวเฉลี่ยรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                             (1) การคำนวณรายจ่าย เช่น รายจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก่อสร้างอาคาร

เป็นต้น ให้ธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยรายจ่ายนั้นตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ

                            (2) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์เห็นว่า การคำนวณรายจ่ายโดยวิธีอื่นจะถูกต้องตามความเป็นจริงมากกว่า หรือมีความเหมาะสมมากกว่าการคำนวณตามหลักเกณฑ์ข้อ (1) ธนาคารพาณิชย์อาจขออนุมัติเพื่อนำหลักเกณฑ์อื่นนั้นมาใช้แทนได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเหตุผลของการขอเปลี่ยนแปลงยื่นต่ออธิบดี และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

 

                       ข้อ 4 การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้

                               ให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมทั้งบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                             กรณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียอากรเดียวกัน โดยให้แยกกระดาษทำการซึ่งแสดงรายละเอียดการคำนวณกำไรขาดทุนระหว่างรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติออกต่างหากจากกัน

 

                     ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป

 

      ประกาศ  ณ  วันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2549

 

ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

(นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022