เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6895 |
วันที่ | : 16 สิงหาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายบัตรเงินสด |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : ลูกค้าของคณะบุคคลฯ ประกอบกิจการบริษัทตัวแทนจำหน่ายบัตรเงินสดซึ่งใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการที่มีข้อตกลงกับบริษัทผู้ออกบัตรเงินสด โดยบริษัทตัวแทนจำหน่ายจะซื้อบัตรเงินสดจากบริษัทผู้ออกบัตรเงินสดตามมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตร และจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อยตามมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตร เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยนำไปจำหน่ายต่อให้แก่ผู้ใช้บัตร ซึ่งบริษัทผู้ออกบัตรจะจ่ายค่าตอบแทนในการจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่าย โดยคำนวณจากมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตรเงินสดในอัตราตามที่ตกลงกัน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกค้ารายย่อย โดยคำนวณจากมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตรเงินสดตามอัตราที่ตกลงกันเช่นกัน |
แนววินิจฉัย | : 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (1) กรณีบริษัทตัวแทนจำหน่าย ได้ซื้อบัตรเงินสดจากบริษัทผู้ออกบัตร ซึ่งบัตรเงินสดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการที่มีข้อตกลงกับบริษัทผู้ออกบัตรเงินสด โดยได้ซื้อตามมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตร และนำไปจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้ารายย่อยตามมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตร ซึ่งลูกค้ารายย่อยจะเป็นผู้นำไปจำหน่ายต่อให้แก่ผู้ใช้บัตร เมื่อบัตรเงินสดเป็นสิ่งที่ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการที่มีข้อตกลงกับบริษัทผู้ออกบัตร ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการของบริษัทตัวแทนจำหน่าย บัตรเงินสดจึงมิใช่สินค้าของบริษัทตัวแทนจำหน่าย ดังนั้น รายได้ที่ได้จากการจำหน่ายบัตรเงินสดของบริษัทตัวแทนจำหน่ายดังกล่าว จึงไม่ใช่รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีบริษัทตัวแทนจำหน่ายได้รับค่าตอบแทนในการจำหน่ายบัตรเงินสดจากบริษัทผู้ออกบัตรซึ่งจะคำนวณจากมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตรในอัตราตามที่ตกลงกัน ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการตัวแทนจำหน่ายบัตรเงินสด บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับ ไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทตัวแทนจำหน่ายได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกค้ารายย่อยที่นำบัตรเงินสดไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้บัตร โดยคำนวณจากมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตรในอัตราตามที่ตกลงกัน ค่าตอบแทนที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายได้จ่ายไปนั้น เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการประกอบกิจการ บริษัทตัวแทนจำหน่ายมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรได้ 2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (1) กรณีบริษัทตัวแทนจำหน่ายจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกค้ารายย่อยในการจำหน่ายบัตรเงินสด โดยจะคำนวณจากมูลค่าที่ระบุไว้หน้าบัตรในอัตราตามที่ตกลงกัน ค่าตอบแทนที่ลูกค้ารายย่อยได้รับ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในการจัดจำหน่ายบัตรเงินสด หากการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวมีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 1,000 บาทก็ตาม บริษัทตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 (2) กรณีบริษัทตัวแทนจำหน่ายมีลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก และแต่ละรายนั้นได้รับค่าตอบแทนหลายครั้งภายในเดือนเดียวกัน ทำให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคราวที่มีการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นเอกสารจำนวนมากนั้น เพื่อเป็นการลดภาระในการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงผ่อนผันให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการค่าจ่ายค่าตอบแทนซึ่งเป็นค่าบริการในทันทีทุกครั้งมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยอนุโลมให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 ครั้งต่อเดือน แต่อย่างไรก็ดี บริษัทตัวแทนจำหน่ายยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) การจำหน่ายบัตรเงินสด เป็นการจำหน่ายสิ่งที่จะนำไปใช้แทนตัวเงินในการชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการต่างๆ บัตรเงินสดจึงเปรียบเสมือนสิ่งที่ใช้แทนเงินสดเท่านั้น เมื่อมีการใช้บัตรเงินสดชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือบริการมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น กรณีบริษัทตัวแทนจำหน่ายจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ลูกค้ารายย่อย จึงมิใช่เป็นการขายสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร (2) การให้บริการจำหน่ายบัตรเงินสดของบริษัทตัวแทนจำหน่ายและลูกค้ารายย่อย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทตัวแทนจำหน่ายและลูกค้ารายย่อยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34423 |