เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6949
วันที่: 17 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรรมการบริหารกระทำการแทนนิติบุคคลในการซื้อประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล
ข้อกฎหมาย:
ข้อหารือ

       บริษัทฯ ได้ออกกรมธรรม์แบบใหม่ที่จะให้ความคุ้มครองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ("นิติบุคคล") ที่มีภาระหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัทฯ ในฐานะเป็นบริษัทประกันชีวิต ไม่สามารถเอาประกันชีวิตกับนิติบุคคลได้ บริษัทฯ จึงแนะนำให้นิติบุคคลคัดเลือกกรรมการหรือผู้บริหารที่เป็นผู้บริหารสำคัญขององค์กรกระทำการเอาประกันชีวิตแทนในนามนิติบุคคล และกำหนดให้ที่ประชุมกรรมการมีมติให้กรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวกระทำการแทนนิติบุคคลในการซื้อประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ซึ่งกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวจะถูกระบุให้เป็นผู้เอาประกันชีวิตในสัญญาประกันชีวิตในฐานะตัวแทนนิติบุคคล ทั้งนี้ นิติบุคคลจะเป็นผู้สมัครเอาประกันชีวิตและชำระเบี้ยประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างที่สัญญาประกันชีวิตยังมีผลบังคับ บริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้กับธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อชำระหนี้แทนนิติบุคคลเป็นลำดับแรก และหากมีเงินเอาประกันชีวิตหลังชำระหนี้สินแทนนิติบุคคลเหลืออยู่ บริษัทฯ ต้องจ่ายผลประโยชน์ที่เหลือดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลทั้งหมด เนื่องจากลักษณะการคุ้มครองชีวิตเพื่อชำระหนี้สินของนิติบุคคลดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการเอาประกันชีวิตมีมูลค่าสูงกว่าภาวะปกติสำหรับการเอาประกันชีวิตในรูปแบบของบุคคลธรรมดา โดยหนี้สินที่ได้รับความคุ้มครองอาจมีมูลค่าสูงถึง 200 - 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สอดคล้องกับมูลค่าหนี้สินที่นิติบุคคลมีอยู่กับธนาคาร ระดับความคุ้มครองดังกล่าวมิใช่ระดับความคุ้มครองที่ปรากฏเป็นปกติของการเอาประกันชีวิตแบบทั่วไปสำหรับบุคคลธรรมดา บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

       1. กรณีนิติบุคคลตกลงจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตเพื่อประกันชีวิตกรรมการหรือผู้บริหารเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของนิติบุคคล นิติบุคคลมีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ อย่างไร

       2. กรณีกรรมการหรือผู้บริหารของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เอาประกันชีวิตแทนนิติบุคคลตามมติที่ประชุม และไม่มีผลประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ กรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นิติบุคคลชำระให้แก่บริษัทฯ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร

       3. กรณีค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิตของกรรมการหรือผู้บริหารที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อชำระหนี้แทนนิติบุคคล ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวถือเป็นการชำระหนี้ตามการค้าปกติของธนาคารหรือไม่ อย่างไร

        4. กรณีค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิตของกรรมการหรือผู้บริหารที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อชำระหนี้แทนนิติบุคคล และส่วนที่จ่ายโดยตรงให้นิติบุคคล (ถ้ามี) ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวถือเป็นรายได้ของนิติบุคคลที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

       1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้ออกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองนิติบุคคลซึ่งมีภาระหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ และเพื่อให้นิติบุคคลสามารถชำระหนี้ธนาคารพาณิชย์ได้ภายในกำหนดเวลา นิติบุคคลจึงต้องมีกรรมการหรือผู้บริหารที่มีความรู้ ความชำนาญในการบริหารงานของนิติบุคคล ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของนิติบุคคล บริษัทฯ จึงให้นิติบุคคลคัดเลือกกรรมการหรือผู้บริหารสำคัญเพื่อเป็นผู้เอาประกันชีวิตแทนนิติบุคคล โดยนิติบุคคลตกลงจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตเพื่อประกันชีวิตกรรมการหรือผู้บริหารตามมติที่ประชุมกรรมการเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ การจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา นิติบุคคลฯ จึงมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร

       2. กรณีตาม 2. เนื่องจากนิติบุคคลมิได้เป็นผู้เอาประกันชีวิต หากแต่เป็นกรณีกรรมการหรือผู้บริหารของนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันชีวิตตามมติที่ประชุมของนิติบุคคล โดยนิติบุคคลตกลงจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการหรือผู้บริหาร และธนาคารผู้ให้สินเชื่อและนิติบุคคลเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นิติบุคคลจ่ายแทนกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ อันเนื่องจากการจ้างแรงงานหรือเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรรมการหรือผู้บริหารจึงต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิตไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

       3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จ่ายเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์อันเนื่องจากการเสียชีวิตของกรรมการและผู้บริหารของนิติบุคคลให้แก่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อ กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ของนิติบุคคลที่มีต่อธนาคารผู้ให้สินเชื่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างธนาคารผู้ให้สินเชื่อและนิติบุคคล

        4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์อันเนื่องจากการเสียชีวิตของกรรมการและผู้บริหารของนิติบุคคลให้แก่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อเพื่อชำระหนี้แทนนิติบุคคล และหากเงินผลประโยชน์เหลืออยู่ บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่นิติบุคคล ผลประโยชน์ที่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อและนิติบุคคลได้รับตามกรมธรรม์ดังกล่าวถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อและนิติบุคคลต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้:69/34432

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020