เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6165
วันที่: 24 กรกฎาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าอากาศยานเพื่อการบินพาณิชย์
ข้อกฎหมาย: ;มาตรา 82/3 มาตรา 82/5(3) และมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ       บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้บริการรับเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ ให้บริการเช่าทรัพย์สิน ให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ต้องมีการใช้อากาศยานเพื่อให้บริการขนส่ง บริษัทฯ จึงต้องจัดหาอากาศยานจากต่างประเทศ และเมื่ออากาศยานที่ใช้งานหมดสภาพบริษัทฯ ก็ต้องจัดหาอากาศยานมาทดแทน ในปี 2549 บริษัทฯ จัดหาอากาศยานมาทดแทนในลักษณะของการเช่าแบบลิสซิ่งกับบริษัท จ. แต่เนื่องจากในการนำเข้าอากาศยานจากต่างประเทศนั้น กรมการขนส่งทางอากาศยานโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้อนุญาตให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศจัดหาอากาศยานมาทดแทนอากาศยานเก่าได้ และอนุญาตให้บริษัทฯ นำอากาศยานมาจดทะเบียนเป็นอากาศยานสัญชาติไทยในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ การนำอากาศยานต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น กรมการขนส่งทางอากาศยานไม่อนุญาตให้บริษัท จ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ให้เช่าอากาศยานเป็นผู้นำเข้าอากาศยาน แต่อนุญาตให้บริษัท H. ทำการนำอากาศยานเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทฯ ดังนั้น ในการดำเนินการพิธีการศุลกากรเพื่อการนำเข้าอากาศยานดังกล่าว บริษัทฯ จึงเป็นผู้ดำเนินการ โดยบริษัทฯ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า แต่บริษัทฯ จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าอากาศยานนั้น เอกสารใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้จึงเป็นชื่อบริษัทฯ จึงขอหารือว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ในกรณีดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร       1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าอากาศยานตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางอากาศยานตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ สามารถที่จะนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ได้ชำระจากการนำเข้าอากาศยานดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ       2. กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาลิสซิ่งอากาศยานกับบริษัท จ. เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สิน อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท จ. ในฐานะผู้ให้บริการต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ สำหรับการให้เช่าอากาศยาน พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่บริษัทฯ และบริษัทฯ ในฐานะผู้รับบริการจากการได้เช่าอากาศยานสามารถนำใบกำกับภาษีที่บริษัท จ. ออกให้ มาถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ
แนววินิจฉัย        เนื่องจากการจัดหาอากาศยานมาทดแทนสำหรับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ เป็นผู้กระทำพิธีการนำเข้าสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งให้แก่บริษัท จ. ดังนั้น บริษัทฯ สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระต่อเจ้าพนักงานศุลกากรและบริษัท จ. มาถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34373

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020