เลขที่หนังสือ | : กค 0706/7311 |
วันที่ | : 30 สิงหาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่ไม่เป็นไปตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ |
ข้อกฎหมาย | : กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 และมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท อ. ดำเนินธุรกิจให้บริการข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์ (AUDIOTEX) โดยบริษัทฯ ได้ร่วมดำเนินงานกับบริษัทเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ เช่น บมจ. ก. บมจ. ข. และ บจ. ค. เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ที่ให้บริการโทรศัพท์กับประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการ ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัทฯ มีลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จึงขอทราบว่า 1. กรณีลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้แล้ว เมื่อบริษัทฯ ตัดหนี้สูญดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชี บริษัทฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีตามรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อปรับปรุงรายการหนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฯ โดยบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ สามารถทำได้หรือไม่ 2. กรณีลูกหนี้ค้างชำระ ตาม 1. ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้แล้ว เมื่อบริษัทฯ ได้ตัดเป็นหนี้สูญ บริษัทฯ ต้องนำส่งภาษีขายในส่วนดังกล่าวหรือไม |
แนววินิจฉัย | : 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้นั้น หากบริษัทฯ ได้ตัดหนี้สูญดังกล่าวเป็นรายจ่ายในทางบัญชีแล้ว ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องปรับปรุงยอดกำไรสุทธิ โดยนำรายการหนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ไปบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้ให้บริการแล้วแต่ยังไม่ได้รับชำระค่าบริการ โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป็นลูกหนี้ค้างชำระไว้ ต่อมาบริษัทฯ คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการดังกล่าว และได้ตัดหนี้สูญเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี กรณีถือว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการยังไม่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการที่ยังไม่ได้รับชำระ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34459 |