เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6743
วันที่: 10 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับจ้างผลิตสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) และมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ       บริษัท บ. ประกอบกิจการเป็นผู้รับจ้างผลิตอะไหล่ลูกกลิ้งยาง และวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมทุกชนิด รวมทั้งการให้บริการซ่อมวัสดุอุปกรณ์ โดยจะผลิตตามคำสั่งของลูกค้าแต่ละรายซึ่งเป็นผู้กำหนดขนาด รูปแบบ ชนิด และความแข็งของยาง ตลอดจนสีที่ต้องการ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและวัสดุต่างๆ เองและนำไปบันทึกเป็นต้นทุนการผลิตของกิจการ โดยมีขั้นตอนการออกเอกสาร ดังนี้
       1. เมื่อกระทำเสร็จพร้อมส่งมอบจะออกเอกสารใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ยกเว้นกรณีสินค้าไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของลูกค้าจะส่งกลับ และบริษัทฯ จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนส่งมอบต่อไป
       2. เมื่อครบกำหนดชำระเงิน และได้รับชำระเงินจากลูกค้าจากการรับจ้างผลิต บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า
       บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีดังกล่าวเป็นการรับจ้างผลิตหรือเป็นการขายสินค้า และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อใด
แนววินิจฉัย       ตามข้อเท็จจริงหากบริษัทฯ ไม่ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายเป็นปกติธุระแต่จะกระทำการผลิตตามคำสั่งที่ลูกค้ากำหนดเท่านั้น โดยคู่สัญญามุ่งโดยตรงต่อผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ มิได้มุ่งโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าแต่อย่างใด ถือเป็นการรับจ้างทำของเข้าลักษณะเป็นการให้บริการซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1 (10) และตาม มาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ออกเอกสารใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้าเพื่อยืนยันการรับสินค้าโดยยังมิได้รับชำระราคาค่าบริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงยังไม่เกิดขึ้น
เลขตู้:69/34418

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020