เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./7093
วันที่: 23 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายหนังสือเรียนอัจฉริยะ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ฉ) และมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ       บริษัท ม. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทการขาย นำเข้า ส่งออกสินค้า ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 บริษัทฯ มีโครงการจัดทำหนังสือเรียนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนังสือเรียนเสริมทักษะสำหรับเด็ก พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านเพื่อฝึกการออกเสียง ประกอบด้วยเครื่องอ่าน การ์ด และหนังสือโดยผู้ใช้งานต้องใส่การ์ดเข้าในเครื่องอ่านและวางหนังสือลงบนตัวเครื่อง แล้วใช้ปากกาของเครื่องอ่านแตะตำแหน่งต่างๆ บนหน้าหนังสือ เครื่องจะแสดงผลการออกเสียงของคำต่างๆ ที่ปรากฏ รวมถึงแสดงคำถามเกี่ยวกับบทเรียนนั้นๆ ให้ผู้ใช้งานตอบโต้ตามคำสั่ง และบริษัทฯ ได้เตรียมวางขายสินค้าดังนี้
       1. ขายเครื่องอ่าน หนังสือและการ์ด รวมเป็นชุดในราคารวม
       2. ขายหนังสือและการ์ด
       3. ขายเครื่องอ่าน
       บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การขายหนังสือเรียนอัจฉริยะในลักษณะดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และหากอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม
แนววินิจฉัย       1. กรณีบริษัทฯ ขายหนังสือ เครื่องอ่านและการ์ดแยกจากกัน เฉพาะการขายหนังสือเข้าลักษณะเป็นการขายตำราเรียน บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการขายเครื่องอ่าน หรือการ์ดเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
       2. กรณีบริษัทฯ ขายหนังสือรวมการ์ดหรือรวมเครื่องอ่านและการ์ด เป็นชุด ซึ่งทั้งหมดเป็นสื่อการเรียนการสอน มีเนื้อหาอย่างเดียวกัน ต้องใช้งานร่วมกันและขายในราคารวม โดยมิได้แบ่งแยกราคา เข้าลักษณะเป็นการขายตำราเรียนตามมาตรา 81(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร
       อนึ่ง กรณีบริษัทฯ ขายหนังสือรวมการ์ดหรือรวมเครื่องอ่านและการ์ดเป็นชุด ตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากรได
เลขตู้:69/34446

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020